กระแสข่าวกล่าวว่าปีนี้คือปีทองของกฎหมายเพื่อผู้หญิง เพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบแก้ไขข้อความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 ให้ตัดทิ้งประโยคที่ทำให้การข่มขืนภรรยาตนเองไม่ผิดกฎหมายออกไป ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการเรียกร้องมา ยาวนานถึง 10 ปี รวมถึงคลอดกฎหมายใหม่ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งล้วนถูกมองว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิง
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีมติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดทางเพศ มาตรา 276 โดยมีประเด็น สำคัญคือ ตัดทิ้งคำว่า “ซึ่งมิใช่ภริยาของตน” ที่หลายองค์กรเสนอให้แก้ไขตัดประโยคนี้ทิ้งมานานกว่า 10 ปี รวมถึงมีการแก้ไขเพิ่มเติม รายละเอียดอื่น ๆ ดังนี้
1. ในวรรค 1 แก้ไขถ้อยความจาก “ผู้ใดข่มขืนหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน” เป็นถ้อยความใหม่คือ ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ซึ่งเป็นการขยายความคุ้มครองแก่คนทุกเพศ แม้จะถูกกระทำจากคนเพศเดียวกัน
อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ก็ยังมีการถกเถียงทั้งในสภาและนอกสภาว่า ผู้หญิงสามารถข่มขืนผู้ชายได้หรือไม่ และนี่ยังเป็นเทคนิคทางกฎหมายที่ทำให้การใช้กฎหมายคุ้มครองผู้หญิงมีความยุ่งยาก เช่น หากผู้ชายที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนจะฟ้องกลับว่าผู้หญิงข่มขืนตนเอง เช่นกัน
2. ในวรรค 2 ขยายคำจำกัดความของคำว่า “ข่มขืนกระทำชำเรา” ให้ครอบคลุม การกระทำอื่น ๆ นอกจากการสอดในอวัยวะเพศชาย ต่ออวัยวะเพศหญิง โดยครอบคลุมถึงการกระทำโดยใช้อวัยวะเพศ หรือสิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น
3. ในกรณีที่เป็นการข่มขืนกระทำชำเราในคู่สมรส และคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ในวรรค 4 ของมาตรา 276 ได้บัญญัติว่า ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้
หากมองอย่างผิวเผินกฎหมายใหม่นี้จะช่วยคุ้มครองผู้หญิงได้มากขึ้น แต่เมื่อค้นลึกลงไปในรายละเอียด และถามความคิดเห็นจากหลายฝ่าย ทั้งนักกฎหมายองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านผู้หญิง กฎหมายใหม่ยังมีข้อถกเถียง และจุดอ่อนอีกหลายประการ และคงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้หญิง หรืออาจไม่ช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้มากนัก หากคนในสังคมปราศจากซึ่งความเข้าใจในเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย
มีหลากหลายมุมมองที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับกฎหมายนี้ ทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในด้านไม่ดี เช่น ความสมานฉันท์ในครอบครัวที่อาจลดลง หรือในด้านผลดีที่จะเกิดขึ้นหากสามารถใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการคำนึงถึงสิทธิและมอบความคุ้มครองให้กับผู้หญิงที่ถูกละเมิดได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
เริ่มต้นที่มุมมองของนักปฏิบัติ อย่างคุณวิมลเรขา ศิริชัยราวรรณ ทนายความ, ที่ปรึกษากฎหมาย ผู้ไกล่เกลี่ยประจำศาลฯ และผู้ดำเนินรายการ “ผู้หญิงถึงผู้หญิง” (ช่วงความรู้ด้านกฎหมาย) ซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองผู้หญิงที่เกิดขึ้นใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่อาจมีปัญหาในหลายประเด็น และไม่แน่ใจว่ากฎหมายนี้จะคุ้มครองผู้หญิงได้อย่างแท้จริง เพียงใด หรือจะทำให้เกิดความยุ่งยากทางกฎหมายมากไปกว่าเดิม รวมถึงประเด็นละเอียดอ่อนซึ่งคุณวิมลเรขา เห็นว่ากฎหมายจะมีผลกระทบกับสมานฉันท์ในครอบครัวอย่างมาก
เดิมกฎหมายอาญา มาตรา 273 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดข่มขืนผู้หญิงอื่นซึ่งไม่ใช่ภริยาตนเป็นความผิดและในร่างกฎหมายใหม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเป็น ...ผู้ใดข่มขืนผู้อื่นเป็นความผิด...คือมีการเปลี่ยนจากคำว่า “หญิง” มาเป็น “ผู้อื่น” อันนี้เป็นผลพวงมาจากการที่เขากำลังจะยกระดับความเท่าเทียมกัน ระหว่างหญิงชาย ซึ่งเป็นการดำเนินตามแนวคิดในเหลักเรื่อง sex discrimination ที่เมืองนอกจะมีกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเรื่องของ เชื้อชาติ เพศ ศาสนา หรืออะไรก็แล้ว แต่ในร่างกฎหมายนี้เราเน้นในเรื่องของทางเพศก่อน
สมัยก่อนผู้ร่างกฎหมายของไทยเห็นว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ ก็เลยเขียนกฎหมายคุ้มครองคนที่อ่อนแอก่อน หญิงจึงได้รับการคุ้มครองก่อนอย่างชัดเจน ในมาตรานี้หญิงเท่านั้นที่จะเป็นกรรมของการกระทำที่จะต้องได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย แต่มาในกฎหมายใหม่เขาต้องการความเสมอภาค โดยเปลี่ยนผู้ถูกกระทบจาก “ หญิง” มาเป็น “ผู้อื่น” ฉะนั้นเมื่อมีความเสมอภาคเกิดขึ้นก็ต้องเท่ากัน เท่ากับว่าถ้าหากผู้หญิงเองทำผิดในเรื่องทางเพศบ้าง เช่น หญิงไปข่มขืนชาย ผู้หญิงก็มีความผิดแล้วนะ และกฎหมายยังคุ้มครองรวมไปถึงเพศที่ 3 ด้วยคือ ชายทำกับชายก็ผิด หญิงทำกับหญิงก็ผิดได้เช่นกัน
ประเด็นความยุ่งยากแรก เกิดจากวรรค 2 ของมาตรานี้ได้นิยามคำจำกัดความ “ข่มขืนกระทำชำเรา” ใหม่ ของเดิมนั้น บอกว่า การที่อวัยวะเพศชายล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศหญิง แม้แต่องคุลีเดียวถือว่าข่มขืนสำเร็จ อันใหม่ให้มีความหมายเพิ่มว่า อวัยวะเพศเข้าในอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือการใช้อวัยวะเพศเข้าไปในช่องปากของผู้อื่น และครอบคลุมถึงการใช้สิ่งอื่นใดเข้าไปในอวัยวะเพศหรือทวารหนักด้วย
เขียนบรรยายความมากมายขนาดนี้ นักกฎหมายจะทำงานยากมาก และต้องตีความกันหนักทีเดียว ของเดิมบอกว่าถ้าอวัยวะของเพศชายล่วงล้ำเข้าอวัยวะเพศหญิงแค่องคุลีเดียว (โดยไม่ต้องสนใจว่าชายจะสำเร็จความใคร่หรือไม่!!) ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว โทษคือจำคุก 4-20 ปี แต่ถ้ายังไม่ทำถึงขนาดเข้าไปเรียกว่าเป็นขั้นพยายาม รับโทษต่างกันคือ แค่ 2 ใน 3 เท่านั้น แล้วในเมื่อมีการเขียนขยายคำจำกัดความอย่างที่กล่าวมา ช่วยตอบด้วยว่าอันไหนเป็นแค่พยายาม แล้วอันไหนเป็นความผิดสำเร็จ เพราะลักษณะของการกระทำมันขยายขอบเขตมากขึ้น ยกตัวอย่าง การใช้ลิ้น ถ้าหากทอมไปใช้ลิ้นกับดี้ แล้วดี้ไม่ยอม ความผิดสำเร็จตอนไหนล่ะ จะให้รับโทษ 4-20 ปีตอนไหน หรือการเอาลิ้นไปแตะโดนอวัยวะเพศเป็นแค่พยายามเท่านั้น รับโทษ 2 ใน 3 แล้วเวลาสืบพยานในศาลก็คงต้องสืบกันลึกมาก คงโต้เถียงกันน่าดู เพราะว่าคนทำผิดคนไหน ๆ ก็ต้องอยากรับโทษน้อย แต่คนเป็นผู้เสียหายก็คงอยากให้คนทำผิดโดนหนัก ๆ อย่างนี้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติแน่ ๆ !!
สนช. ผ่านพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัว
สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบผ่านร่าง พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หลังจากที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้พยายามผลักดันกฎหมายนี้มานานหลายปี ซึ่งกฎหมายนี้มีข้อดีและข้อน่าห่วงใยหลายประการ
ข้อที่น่าห่วงคือ เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซับซ้อน รัฐหรือผู้อื่นจะเข้าไปแทรกแซงอย่างไร โดยให้เกิดผลกระทบกับความสัมพันธ์ในครอบครัวน้อยที่สุด หรือหากเข้าไปแทรกแซงอย่างไม่ถูกต้อง ไม่ถูกเวลาและสถานการณ์ อาจมีผลทำลายคามสัมพันธ์ในครอบครัวของผู้อื่นได้
พรบ. นี้ยังเน้นกระบวนการไกล่เกลี่ย ประนีประนอมยอมความ โดยในมาตรา 15 บัญญัติว่า “ไม่ว่าการพิจารณาคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด ให้ศาลพยายามเปรียบเทียบให้คู่ความได้ยอมความกัน โดยมุ่งถึงความสงบสุข และการอยู่ร่วมกันในครอบครัวเป็นสำคัญ...” ซึ่งการประนีประนอมเป็นสิ่งที่ดีหากทำได้ แต่ควรคำนึงถึงความต้องการของผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงเป็นสำคัญ
ส่วนข้อดีของ พรบ. คุ้มครองฯ นี้คือ ได้วางแนวทางในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวอย่างเป็นระบบ เช่น มีบทบัญญัติให้บุคคลที่พบเห็น หรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยวิธีใด ๆ
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้พบเห็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ให้มีอำนาจเข้าไปเคหสถานเพื่อสืบหาข้อเท็จจริง รวมทั้งมีอำนาจจัดให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ และขอรับคำปรึกษาแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์
ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวประสงค์จะดำเนินคดี ให้จัดให้ผู้นั้นร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และถ้าผู้ที่ถูกกระทำไม่อยู่ในวิสัย หรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ร้องทุกข์แทนได้
เมื่อมีการร้องทุกข์แล้ว ให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนโดยเร็ว และส่งตัวผู้กระทำความรุนแรง สำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความคิดเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อฟ้องคดีต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง แต่หากมีเหตุจำเป็นไม่อาจยื่นฟ้องได้ทันภายในเวลาที่กำหนด ให้ขอผลัดฟ้องได้คราวละไม่เกิน 6 วัน แต่ต้องไม่เกิน 3 คราว
ในการสอบปากคำผู้ถูกกระทำความรุนแรง พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ร้องขออยู่ด้วยในขณะสอบปากคำ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่บุคคลผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเป็นการชั่วคราว ไม่ว่าบุคคลนั้นจะร้องขอหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวชดใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เบื้องต้น และการออกคำสั่งห้ามผู้กระทำความรุนแรงเข้าไปในที่พำนักของครอบครัว หรือเข้าใกล้บุคคลใดในครอบครัว ตลอดจนกว่าการกำหนดวิธีการดูแลบุตร เป็นต้น
นอกจากนี้ศาลอาญากำหนดให้ผู้กระทำความรุนแรงต้องใช้วิธีการฟื้นฟู บำบัดรักษา คุมความประพฤติ ทำงานบริการสาธารณะ ละเว้นการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือทำทัณฑ์บนไว้ ตามวิธีการและระยะเวลาที่ศาลกำหนดได้ บทบัญญัติมาตรานี้ถือว่าสำคัญในการแก้ปัญหาความรุนแรง เพราะหากยังเป็นขั้นความรุนแรงที่ไม่มาก และทั้งสองฝ่ายประสงค์จะใช้ชีวิตร่วมกันต่อไป การบำบัดพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงซ้ำ หรือกระทำความรุนแรงที่เป็นอันตรายมากกว่าเดิม
ประเด็นความยุ่งยากถัดมา ส่วนที่กฎหมายใหม่ตัดคำว่า “ซึ่งมิใช่ภริยาของตน” ออกไป เหลือสั้น ๆ แค่ ผู้ใดข่มขืนผู้อื่นเป็นความผิด อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความสมานฉันท์ในครอบครัวขึ้น เพราะถ้ากำหนดให้สามีหรือภริยาข่มขืนกันเป็นความผิดด้วยนั้น เป็นการผิดธรรมชาติในการใช้ชีวิตคู่ของสังคมไทยเรา เพราะในครอบครัวในบางวาระ อาจมีตบจูบ มีการใช้กำลังกันบ้าง ขัดขืนใจกันบ้าง ก็ไม่เป็นไร ลิ้นกับฟันกระทบกันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ตามวัฒนธรรมของเราบอกว่า ถ้าคุณตกลงแต่งงานกันแปลว่า คุณกำลังทำพันธะสัญญาต่อกันอยู่ในทีว่า จะร่วมกินอยู่หลับนอนกับผู้ชายคนนี้ ยินยอมมีความสัมพันธ์กันเพื่อมีลูกหลานสืบวงศ์ตระกูล ดังนั้นถ้าเกิดบางโอกาสที่ฝ่ายหญิงไม่ยอม แต่คุณเป็นสามีภรรยากันนอนคุยกันเดี๋ยวก็รู้เรื่อง ไม่เคยเห็นเหรอคะ คู่ไหนยิ่งทะเลากัน แหม!! ทำไมครอบครัวนั้นลูกดกเหลือเกิน แต่พอกฎหมายใหม่ตัดส่วนห้อยท้ายออก ก็แปลว่า ถ้าวันไหนสามีภรรยาฝ่ายใดเกิดไม่ยินยอมพร้อมใจก็อย่าได้ไปแตะเขานะ เป็นคดีอาญาทันทีได้เลย จริง ๆ ดิฉันก็เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่างนะคะ เพราะประโยชน์ของกฎหมายใหม่ก็มีอยู่บ้าง เช่น กรณีที่สามีไปใช้บริการหญิงขายบริการทางเพศ แล้วไปติดโรคร้ายมา ภรรยาสามารถใช้สิทธิ์นี้ปฏิเสธไม่ยอมได้ร่วมหลับนอนได้ ประโยชน์อีกข้อคือ คู่ที่แยกกันอยู่ แต่ยังไม่หย่าอย่างเป็นทางการเพราะเห็นแก่ลูก ภรรยามีสิทธิ์ไม่ร่วมหลับนอนด้วยก็ได้ เห็นประโยชน์แค่นี้จริง ๆ ส่วนด้านผลกระทบมันเกิดขึ้นเยอะมาก
ธรรมดาปัญหาในครอบครัวก็มีเรื่องให้ต้องทะเลาะกันมากอยู่แล้ว ยิ่งไปสร้างฐานกฎหมายให้ทะเลาะกันเข้าไปอีก ก็ยิ่งยุ่งกันไปใหญ่ จึงถือเป็นการแก้ไขกฎหมายที่ไม่ได้ส่งเสริมความสมานฉันท์ในครอบครัว และไม่ได้คำนึงถึงธรรมชาติของการใช้ชีวิตคู่ตามลักษณะของสังคมไทยด้วย แต่เขาก็เขียนนะว่า ไม่เป็นไรถ้าเกิดสามีภรรยาคู่ไหนที่แจ้งความร้องทุกข์เป็นคดีขึ้นสู่ศาล แล้วเกิดตกลงใจจะอภัยกัน จะยินยอมอยู่ด้วยกันต่อไป ศาลก็จะลดโทษให้ ซึ่งในทางปฏิบัติเท่าที่ดิฉันได้ทำหน้าที่ทนาย และเป็นผู้ไกล่เกลี่ยประจำศาลมา หากสามีภรรยาทะเลาะกันขนาดขึ้นโรงขึ้นศาลก็แทบจะไม่มองหน้ากันแล้ว เรียกว่าสอบถามอะไรก็ตาม จะได้รับฟังความชั่วมากมาย แต่ความดีไม่มีปรากฏ ยิ่งถ้าเป็นคดีอาญาซึ่งฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจมีโอกาสติดคุก คราวนี้ก็ท่าจะคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว!!
คือเราต้องยอมรับว่า การจะได้อะไรบางอย่างมาอาจต้องสูญเสียบางอย่างไป ซึ่งผู้หญิงแถวหน้า (Working Woman) หลายคน อาจเห็นว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่ทำให้ผู้หญิงได้รับการดูแลมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยมีกฎหมายมารองรับตรงจุดนี้ นั่นคือสิ่งที่ได้มา !! แต่สิ่งที่อาจต้องเสียไปคือ ความสมานฉันท์ในครอบครัว เพราะอาจเกิดบางสิ่งแบบที่ผู้หญิงแถวหลัง (ที่เป็นแม่บ้านอยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน) เขาอาจไม่ได้ประสงค์ให้ออกกฎหมายมาในลักษณะนี้ เพราะจากสถิติที่ผู้หญิงมาขอความช่วยเหลือจากดิฉันในคดีที่เกี่ยวกับครอบครัว ในที่สุดเขาอยากได้สามีคนที่เคยดีกลับคืนมา และครอบครัวที่เป็นสุข ฉะนั้นถ้าอยากคุ้มครองผู้หญิงจากการกระทำรุนแรงทางเพศ ก็น่าจะใช้วิธีการเพิ่มโทษให้ ผู้กระทำผิดหลาบจำ หรือไม่กล้ากระทำผิด แต่นี่เรามองข้ามประเด็นนี้ไป แต่กลับไปแก้ประเด็นอื่น ซึ่งส่งผลกระทบ แน่นอนว่าคุณอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ที่สามีหรือภริยาฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีอาญาฐานข่มขืน เขาจะพยายามทำดีกับอีกฝ่ายหนึ่งไว้ก่อน พอรอดจากคุกแล้ว คงยากล่ะหากจะให้กลับไปคืนดีกัน !!!
แต่ในกฎหมายฉบับนี้ ผ่านสภาฯ มาแล้ว เหลือแค่รอประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ก็มีผลบังคับใช้กับเราทุกคนแล้ว ทางแก้สำหรับเรื่องนี้หากเกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ก็อาจไปขอแก้ไขกฎหมายนี้ในภายหลัง หรืออาจใช้ทางแก้แบบชั่วคราว คือต่อจากนี้คงต้องมีคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาปรึกษาแน่ ๆ ว่า จะป้องกันข้อบาดหมางหรือข้อพิพาทที่จะเกิดได้อย่างไร คงต้องแนะนำในแบบสมานฉันท์ ว่าเวลาสามีภรรยาจะมีอะไรกัน ต้องทำบันทึกข้อตกลงยินยอมให้มีอะไรกันได เป็นหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน จะได้ไม่ต้องกังวลว่ามีอะไรกันแล้ว จะโดนอีกฝ่ายไปกล่าวหาว่าข่มขืนซึ่งก็คงจะพิลึกน่าดูเหมือนกัน!!!
สถิติความรุนแรงในครอบครัว
สถิติจากงานวิจัยโดยสภาบันวิจัยประชากรและสังคม ร่วมกับมูลนิธิผู้หญิง พบว่า ร้อยละ 41 ของผู้หญิงมีคู่ในกรุงเทพฯ เคยเผชิญปัญหาความรุนแรงทางกายหรือทางเพศ และร้อยละ 47 ของผู้หญิงที่มีคู่ที่ จ.นครสวรรค์ เคยเผชิญปัญหาความรุนแรงทางกายหรือทางเพศ และพบว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงในชีวิตคู่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกายและจิตใจ
· 1 ใน 2 ของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายทางกายได้รับบาดเจ็บ
· หญิงที่ได้รับบาดเจ็บ 5% มีอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล
· 4% หมดสติจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
· 40% ของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย เคยคิดฆ่าตัวตาย
นี่คือสิ่งสะท้อนว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย และเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง