อาหารจานเด็ดที่นำมาให้ชมกันในวันนี้ อาจแลดูแปลกประหลาดในสายตานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ถือเป็นอาหารรสเลิศและเมนูเด็ดห้ามพลาดที่คนในประเทศนั้นๆ ภูมิใจนำเสนอ
ชิราโกะ (Shirako) ประเทศญี่ปุ่น
"ชิราโกะ” คือ เมนูเด็ดของชาวญี่ปุ่น ที่นำ “ถุงหรือท่อเก็บน้ำอสุจิปลา” (ส่วนใหญ่จะนำมาจากปลาคอด, ปลาปักเป้า และปลาแองเกลอร์) ที่ภายในอัดแน่นไปด้วยสเปิร์ม มาเสิร์ฟให้ทานทั้งแบบปรุงสุกและแบบดิบๆ
หากปรุงสุก “ชิราโกะ” จะมีลักษณะข้นมันคล้ายครีมคัสตาร์ด แต่ถ้ารับประทานแบบดิบๆ ก็จะให้ความรู้สึกเหนียวนุ่มชุ่มน้ำมัน ประมาณว่าเคี้ยวแล้ว (น้ำ) มันหยดติ๋งเลยทีเดียว
ลูตเตฟิสค์ (Lutefisk) ประเทศนอร์เวย์
อาหารพื้นเมืองนอร์เวย์จานนี้ ทำมาจากปลาเนื้อขาว เช่น ปลาคอด (ทั้งชนิดตากแห้งและหมักเกลือ) แช่ “น้ำด่าง” หรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ (โซดาไฟ) ซึ่งเป็นสารที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการอุตสาหกรรมและการทำสบู่
วิธีทำก็คือ นำเนื้อปลามาแช่น้ำเย็นราว 5-6 วัน (เปลี่ยนน้ำทุกวัน) จากนั้นก็นำปลามาแช่ในน้ำเย็นผสมน้ำด่างทิ้งไว้อีก 2 วัน ขั้นตอนนี้จะทำให้โปรตีนในเนื้อปลาลดลง 50% และเนื้อปลาจะมีลักษณะคล้ายวุ้นหรือเจลลี่ แต่ยังไม่สามารถนำมารับประทานได้ ต้องนำมาแช่น้ำเย็น (เปลี่ยนน้ำทุกวัน) เป็นขั้นตอนสุดท้ายอีก 4-6 วัน จึงจะได้ “ลูตเตฟิสค์” ขาวใสที่มาพร้อมกลิ่นตลบอบอวล พร้อมทำไปประกอบอาหาร และทานเคียงคู่มันฝรั่งต้ม ฯลฯ
เคนคีย์ (Kenkey) ประเทศกานา
เคนคีย์ หรือโดโคนุ เป็นอาหารพื้นเมืองของประเทศกานา ที่มักถูกนำมารับประทานเคียงคู่สตูว์ เมนูปลา สัตว์ปีก และเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ตลอดจนอาหารรสชาติจัดจ้านอย่างน้ำพริกกานารสชาติสุดร้อนแรง
วิธีทำเคนคีย์ เริ่มต้นจากการนำเมล็ดข้าวโพดมาบดให้ละเอียด จากนั้นก็ผสมน้ำอุ่นแล้วหมักเอาไว้ประมาณ 3 วัน จากนั้นจึงนำแป้งหมักมานวดด้วยมือ เมื่อได้ที่แล้วก็แบ่งแป้งออกเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน ส่วนหนึ่งนำไปต้มในน้ำโดยเติมเกลือเล็กน้อย แล้วหมั่นคนอย่างต่อเนื่อง ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 10 นาที จากนั้นก็นำแป้งอีกส่วนหนึ่งมาผสมเข้าด้วยกัน เมื่อผสมแป้งทั้ง 2 ส่วนให้เป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ก็นำเปลือกข้าวโพดหรือใบตอง (หรือฟอยด์) มาห่อแป้งดังกล่าว แล้วนำไปนึ่งประมาณ 1-3 ช.ม. จากนั้นก็นำไปเสิร์ฟที่อุณหภูมิห้อง (ปัจจุบัน มีแป้งเคนคีย์สำเร็จรูปวางจำหน่ายตามร้านขายของชำในแถบแอฟริกาแล้ว)
แอแร็ก (Airag) ประเทศมองโกเลีย
ภาชนะหนังบรรจุ “แอแร็ก” ความจุ 28 ลิตร ภายในเต็นท์จำหน่าย
หากใครไปเยือนมองโกเลียแล้วไม่ได้ลิ้มลอง “แอแร็ก” ก็เปรียบเสมือนไปไม่ถึงมองโกเลีย และเจ้า “แอแร็ก” ที่ว่านี้ก็คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมัก “นมม้า” นั่นเอง
ระหว่างผลิต แบคทีเรียจะย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมให้เป็นกรดแลคติค ทำให้มีภาวะเป็นกรดและมีรสเปรี้ยว ขณะที่ยีสต์จะเปลี่ยนน้ำตาลให้กลายแอลกอฮอล์และคาร์บอนไดออกไซด์ (ฟอง) ทั้งนี้ผู้ผลิตจะต้องหมั่นคนนมม้า “แอแร็ก” วันละไม่ต่ำกว่า 1 พันครั้ง โดย “แอแร็ก” ที่พร้อมขายจะมีแอลกอฮอล์แรงกว่าเบียร์ แต่อ่อนกว่าไวน์
ตรึง วิท ลอน (Trứng Vịt Lộn) ประเทศเวียดนาม
“ตรึง วิท ลอน” หรือไข่ข้าวเวอร์ชั่นเวียดนาม เป็นอาหารที่คนไทยหลายท่านคุ้นตา หรืออาจเคยลิ้มลองมาแล้ว เพราะไม่เพียงเป็นเมนูเด็ดในประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนามเท่านั้น หากยังมีขายในบ้านเราเช่นกัน
“ตรึง วิท ลอน” คือ ไข่เป็ดที่มีเชื้อผสมเรียบร้อยแล้ว และเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนภายในเปลือกไข่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่ไม่สามารถ ฟักเป็นตัวได้ ส่วนอายุของตัวอ่อนในไข่ที่นำมาใช้ประกอบอาหารขึ้นอยู่กับรสนิยมในแต่ละ ภูมิภาค เช่น ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือจะชอบทานตัวอ่อนที่อายุมาก เพราะมีกระดูกอ่อนให้เคี้ยว กรุ๊บๆ
ส่วนวิธีรับประทานก็มีทั้งแบบที่นำไปต้ม แล้วแกะเปลือกด้านบนเพื่อซดน้ำที่อยู่รอบตัวอ่อน ก่อนที่จะปอกเปลือกออกทั้งหมด ขณะที่บางคนก็ปอกเปลือกแล้วเทน้ำและตัวอ่อนลงในชาม เพื่อทานแกล้มน้ำจิ้มและผักสด บางคนก็นำไปประกอบอาหารซึ่งมีให้เลือกรับประทานหลากหลายเมนูด้วยกัน
เนื้อคาปีบาร่า (Capybara) ประเทศบราซิล
ในขณะที่ประเทศเปรูและเอกวาดอร์นิยมนำหนู ตะเภามาเสิร์ฟเป็น “หนูหัน” ชาวบราซิลกลับเลือกนำญาติหนูตะเภาที่ตัวใหญ่กว่าอย่าง “คาปีบาร่า” มาทำเป็นเมนูเด็ด
คาปีบาร่า เป็นสัตว์ตระกูลหนูตัวใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 4 ฟุต และมีน้ำหนักมากกว่า 60 ก.ก. โดยชาวบราซิลจะนำเนื้อคาปีบาร่ามาหมักกับกระเทียมสับ หัวหอม พริกหวาน ใบกระวาน และน้ำส้มสายชู เป็นเวลาห้าชั่วโมง ก่อนที่จะนำไปประกอบอาหาร
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวบราซิล และบางส่วนในแถบอเมริกาใต้บริโภคเนื้อคาปีบาร่า เนื่องจากเป็นเนื้อสัตว์ที่สามารถทานได้ในวันศุกร์ช่วงฤดูถือบวชของชาว คริสต์ (ช่วง 40 วันก่อนวันอีสเตอร์ ชาวคาทอลิกจะงดรับประทานเนื้อสัตว์ทุกวันศุกร์)
**
แบล็ค พุดดิ้ง (Black Pudding) ประเทศอังกฤษ
แม้ชื่อจะเหมือนขนมแต่ “แบล็ค พุดดิ้ง” (หรือ “บลัด พุดดิ้ง”) ก็คือ ไส้กรอกที่ทำมาจากเลือด หมูหรือเลือดวัว (แต่ส่วนใหญ่มักทำมาจากเลือดหมู) ผสมเครื่องปรุงต่างๆ เช่น เนื้อสัตว์ ไขมัน ขนมปัง มันเทศ หัวหอม เกาลัด ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโอ๊ต เป็นต้น
“แบล็ค พุดดิ้ง” สามารถทานได้ทั้งแบบดิบๆ หรือปรุงสุกด้วยการ ทอด ย่าง และต้ม สำหรับเมนูอาหารเช้าสไตล์อังกฤษแบบดั้งเดิม จะเสิร์ฟ “แบล็ค พุดดิ้ง” พร้อมถั่วอบ มะเขือเทศ เห็ด ไข่ และขนมปัง
โพชินทัง (Boshintang) เกาหลีเหนือและใต้
โพชินทัง หรือ “ซุปเนื้อหมา” เป็นอาหารขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของชาวเกาหลี ที่รับประทานสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่น้องหมาที่เขานำมาทำซุปให้ทานไม่ได้เป็นหมาตาดำๆ ที่แอบสอยเอาตามข้างถนน (เหมือนในบางที่) หากเป็นน้องหมา “noranke” (แปลว่า สุนัขสีเหลือง) ที่เขาพัฒนาสายพันธุ์และเลี้ยงไว้เพื่อนำมาทำเป็นอาหารมนุษย์โดยเฉพาะ
ในการปรุงเมนูนี้ เขาจะนำเนื้อน้องหมามาต้ม แล้วใส่ ต้นหอม ผักชีล้อม ใบชิโสะ และเมล็ดชิโสะป่น เป็นต้น ถึงแม้จะมีกระแสกดดันจากสมาคมพิทักษ์สัตว์ในระดับนานาชาติ แต่มีรายงานว่า “โพชินทัง” ยังคงหาทานได้ตามร้านอาหารกว่า 6 พันแห่งทั่วเกาหลีใต้ (ส่วนเกาหลีเหนือไม่มีการรวบรวมตัวเลข)
มัคทัค (Muktuk) กรีนแลนด์
มัคทัค เป็นอาหารจานเด็ดที่ชาวกรีนแลนด์รับประทานกันมาตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง โดยชาวอินุตจะพายเรือคายัคออกไล่ล่าปลาวาฬตัวใหญ่ยักษ์กลางมหาสมุทร เพื่อแล่เนื้อเถือหนังมาทำเป็นอาหาร ซึ่งนอกจากปลาวาฬเบลูกา และปลาวาฬหัวบาตรแล้ว ในบางครั้งชาวอินุตยังออกล่า “นาร์ปลาวาฬ” (ฉายา ยูนิคอร์นแห่งท้องทะเล) มาทำเป็นอาหารในช่วงฤดูร้อนอีกด้วย
และเมนู “มัคทัค” ที่ว่านี้ก็คือ เนื้อติดหนังปลาวาฬ อันอุดมไปด้วยวิตาซี (มากถึง 38 ม.ก. ต่อ 100 กรัม) ที่ชาวกรีนแลนด์นิยมนำมารับประทานกันแบบดิบๆ แต่บางครั้งก็จะนำมาหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า แล้วชุบเกร็ดขนมปังทอด ทานคู่กับซอสถั่วเหลือง หรือไม่ก็นำไปดองเก็บไว้
เนื้อติดหนังปลาวาฬ หรือ “มัคทัค” ประกอบด้วย ผิวหนังชั้นนอกที่มีลักษณะคล้ายยางและมีกลิ่นคล้ายเฮเซลนัท และชั้นเนื้อติดไขมันรสนุ่มชุ่มลิ้น โดยระหว่างผิวหนังชั้นนอกและชั้นในจะมีชั้นบางๆ ที่มีลักษณะแข็งคล้ายไม้ค็อกแทรกอยู่ ซึ่งเป็นส่วนที่เคี้ยวยากที่สุด
ทาโกส เดอ เซโซส (Tacos de Sesos) ประเทศเม็กซิโก
โบราณกล่าวว่า การสูญเสีย “สมอง” เป็นเรื่องเลวร้ายที่สุด ชาวเม็กซิกันจึงภูมิใจนำเสนอเมนูเด็ด “ทาโกส เดอ เซโซส” ซึ่งก็คือ “สมองวัว” นั่นเอง
โลนลี แพลนเน็ต ระบุว่าเมนูนี้ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพเท่าไหร่นัก เนื่องจากมีคอเลสเตอรอลในปริมาณสูงมาก แถมตำราแพทย์ยังระบุว่าเชื้อโรควัวบ้ามีระยะเวลาในการฟักตัวนานถึง 50 ปี การรับประทานอาหารจานนี้จึงเป็นเรื่องที่นักท่องเที่ยวหรือนักชิมต้องใช้ วิจารณญาณ และถ้าอยากลองก็ต้องรับความเสี่ยงกันเอาเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น