วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

เหลืองที่ไม่เอาอำมาตย์ และแดงที่ไม่เอาทักษิณ

เหลืองที่ไม่เอาอำมาตย์ และแดงที่ไม่เอาทักษิณ
Sun, 21/02/2010 - 10:02 — โตมร ศุขปรีชา

-1-

เธอถามผมว่า “คุณเลือกฝ่ายไหน”
ผมตอบเธอไป-เลือกฝ่ายที่ยอมให้มีอีกฝ่ายอยู่ด้วย

เธอถามต่อว่า “ฉันหมายถึงเหลืองกับแดง”
ผมบอกเธอว่า-ผมก็หมายถึงอย่างนั้น

“ถ้าอย่างนั้น คุณก็ไม่มีจุดยืน ไม่มีอุดมการณ์ เป็นนกสองหัว ไร้เดียงสา คุณเลือกอยู่กับใครก็ได้ใช่ไหม”
ใช่-ผมบอก จะเหลืองหรือแดงก็ได้ จะไร้เดียงสาก็ยอม จะว่าโง่ก็ไม่ว่ากัน แต่ต้องเป็นเหลืองที่ยอมให้โลกนี้มีแดง และต้องเป็นแดงที่ยอมให้โลกนี้มีเหลือง

วิธีคิดของเราจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับว่า คำสวยๆอย่าง ‘อุดมการณ์’ หรือ ‘จุดยืน’ นั้น มันคืออุดมการณ์หรือจุดยืนอะไร ของใคร ใครกำหนด และใครที่ว่า, มองโลกด้วยกรอบแบบไหน

ทำไมเราต้องพยายาม ‘ยัด’ คนอื่นลงไปในกรอบของตัวเองด้วยเล่า-ผมถามเธอกลับ

โลกมีอยู่แค่สองกรอบเท่านั้นหรือ?

-2-
กรอบความคิดของผมไม่ได้อยู่ที่อำมาตย์หรือทักษิณมานานแล้ว แม้ประเทศนี้จะขัดแย้งกันเรื่องนี้ไม่รู้จักจบสิ้น ผมเข้าใจว่า ที่หลายคนนิ่งเงียบมาโดยตลอด ไม่ได้แปลว่าคนเหล่านั้นไม่พยายามทำความเข้าใจกับกรอบของคนที่ต่อต้านอำมาตย์หรือต่อต้านทักษิณ และยิ่งไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่พยายามทำความเข้าใจกับตัวอำมาตย์หรือตัวทักษิณเองด้วย
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยพูดถึง ‘คนอย่างทักษิณ’ ว่ามีอยู่เต็มไปหมดในเมืองไทย ผมคิดว่าในเวลาเดียวกัน เราก็มี ‘คนอย่างอำมาตย์’ เต็มไปหมดในเมืองไทยด้วยเหมือนกัน แต่ที่ร้ายกาจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ทั้ง ‘คนอย่างทักษิณ’ และ ‘คนอย่างอำมาตย์’ นั้น เอาเข้าจริงแปะเอี้ยแล้ว มันก็คือคนอย่างเดียวกัน!

ผมจำได้ว่า เมื่อเดือนเมษายนที่แล้ว คราวที่เกิดเรื่องใหญ่ในกรุงเทพฯจนไม่มีใครมีกะจิตกะใจจะทำมาหากิน ในซอยแถวบ้าน-แม่ค้าคนหนึ่งยืนมองถนนอันว่างเปล่าไร้ลูกค้าด้วยดวงตาแห้งผาก เธอเป็นแดง เคยเป็น ยังเป็น และคงเป็นต่อไป แต่เธอก็ปรารภกับเพื่อนแม่ค้าชาวเสื้อแดงอีกคนออกมาดังๆว่า “นี่โลกจะแตกแล้วหรือวะ”

เพื่อนแม่ค้าตอบเธอว่า “ถ้าแตกจริงๆก็ดีสินะ” แล้วเธอก็หันมามองหน้าผม “ใช่มั้ยคะคุณ จะได้พ้นทุกข์กันไปเสียที”
ผมไม่ได้ตอบอะไรเธอ เพราะผมไม่รู้จะตอบอะไร


-3-
ถ้าอยากจะ ‘พ้นทุกข์’ ผมว่าอย่างแรกสุด เราต้อง ‘มองให้เห็น’ กันเสียก่อน ว่าทั้งระบอบอำมาตย์ และระบอบทักษิณ ต่างก็เป็นระบบอุปถัมภ์ทั้งคู่
ลักษณะสำคัญของระบบอุปถัมภ์ที่เราไม่ค่อยมองกันก็คือ มันจะอยู่ไม่ได้ ถ้ามีแค่ผู้อุปถัมภ์ เพราะมันต้องการผู้ ‘ถูกอุปถัมภ์’ ด้วย เช่น กษัตริย์ยุโรปสมัยโบราณจะอุปถัมภ์นักดนตรี ก็ต้องอุปถัมภ์นักดนตรีที่เก่งพอที่จะแต่งเพลงเยินยอพระเกียรติได้เป็นที่ยอมรับกันในผู้รู้ด้านดนตรีในราชสำนักยุโรป ไม่อย่างนั้นก็เป็นได้แค่พระราชาใส่เสื้อล่องหนจนโป๊เปลือยเป็นที่หัวเราะเยาะเหมือนในนิทานของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน-ไม่มีความหมาย นักการเมืองประชานิยมก็เหมือนกัน ถ้าอยากจะสถาปนาตัวเองเป็นผู้อุปถัมภ์ ก็ต้องได้รับการอุปถัมภ์จากประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเสียก่อน

โดยนัยนี้ ผู้ถูกอุปถัมภ์จึงมีสถานะเป็นผู้อุปถัมภ์ของผู้ถูกอุปถัมภ์ด้วย (งงไหมครับ) ชาวนายากจนเป็นผู้อุปถัมภ์คนที่พวกเขาต้องยกมือปะหลกๆกราบไหว้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้านที่เคยให้ความช่วยเหลือ กำนัน ผู้แทนฯ ไปจนถึงเจ้าพ่อในท้องถิ่น, พนักงานบริษัท (ที่ไม่กล้าตั้งสหภาพแรงงาน เพราะคิดว่าเจ้าของบริษัทเป็นผู้มีบุญคุณอุปถัมภ์ตัวเอง) ก็อุปถัมภ์เจ้าของบริษัทอยู่, คุณนายหาเงินเรี่ยไรมาให้คุณหญิงทำกุศล, นายสิบหาเงินมาให้นายร้อย และสูงขึ้นไปใน ‘ชั้น’ ของ ‘ชน’ ในสังคมนี้ ต่างก็เป็นเช่นนี้ส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ เพราะต่างก็ตกอยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์ทั้งสิ้น โดยไม่เคยตระหนักเลยว่า-ผู้ถูกอุปถัมภ์ก็คือผู้อุปถัมภ์ด้วย!

น่าเสียดาย, ที่เราไม่ค่อยรู้ตัว เราจึงมักคิดว่าเราไม่มีอำนาจจะทำอะไร แล้วเราก็คิดว่าเรา ‘ทุกข์’ อยู่อย่างนั้น

แต่ถ้าเรา ‘เห็น’ ว่าทั้งระบอบอำมาตย์และระบอบทักษิณต่างก็เป็นระบบอุปถัมภ์ และรู้ว่า ผู้ถูกอุปถัมภ์มีอำนาจอยู่ในตัว สามารถ ‘ล้ม’ การอุปถัมภ์นั้นเมื่อไหร่ก็ได้ เราก็จะ ‘กล้า’ ที่จะ ‘เห็น’ ให้ชัดเจนขึ้น ว่าทั้งสองระบอบต่างก็มีความฉ้อฉลอยู่ในตัวเองทั้งคู่อย่างที่ยากจะปฏิเสธ

ระบอบทักษิณกับการทุจริตเชิงนโยบาย ระบอบอำมาตย์ก็ไม่น้อยหน้า ด้วยวิธีคิดสองมาตรฐาน (หรือกว่านั้น) มาโดยตลอด ในแง่หนึ่ง ทั้งสองระบอบเป็นระบอบที่เห็นว่าใครบางคน ‘วิเศษ’ กว่าคนอื่นอยู่เสมอ ด้วยฤทธิ์ของความคิดที่ว่า ‘ผู้อุปถัมภ์’ จะต้องเหนือกว่าผู้ถูกอุปถัมภ์ ต้องถูกกราบไหว้เป็นผู้วิเศษนั่นเอง และความวิเศษนั้นก็ถ่ายทอดลงมาตาม ‘ชั้น’ ของ ‘ชน’ ทีละขั้นๆ

แต่ถ้าเรา ‘เห็น’ เสียแล้ว ว่านี่คือสิ่งที่เป็นไป ต่อไปไม่ว่าเราจะเป็นเหลืองหรือแดง เราก็จะเป็นเหลืองหรือแดงที่ ‘ตื่น’ และการ ‘ตื่น’ ก็จะทำให้เรา ‘เลือก’ ที่จะไม่เอาทั้งอำมาตย์และไม่เอาทั้งทักษิณชนิดหมอบราบคาบแก้ว นั่นคือเลือกที่จะไม่เอา ‘ระบบอุปถัมภ์’ ในแบบที่เป็นอยู่นี้ (แต่ก็ต้องตระหนักด้วยว่า ระบบอุปถัมภ์ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย ข้อดีของมันก็มีอยู่ และมีอยู่มากด้วย)

โปรดสังเกตว่า ผมไม่ได้บอกว่าเราควรจะต้องลุกขึ้น ‘ไม่เอา’ ทั้งสองระบอบถ่ายเดียวนะครับ ใครจะ ‘เอา’ ก็ได้ แต่ต้อง ‘เอา’ ด้วยการตั้งคำถาม ด้วยการตรวจสอบให้โปร่งใส เพราะสำหรับผม ทั้งระบอบทักษิณและระบอบอำมาตย์ไม่ได้ขาวหรือดำ ต่างมีข้อดีข้อเสียทั้งคู่ ผมเพียงแต่จะบอกว่า เราไม่ควร ‘ศิโรราบ’ หมดเนื้อหมดตัว เพราะคิดว่าเราไม่มีอำนาจ ไม่มีปัญญา ไม่มีบารมี เป็นแค่ตัวเล็กๆที่ถูกอุปถัมภ์มาตลอดชีพ

ความขัดแย้งในเวลานี้ซับซ้อนขึ้น แต่ยังไม่ได้ซับซ้อนออกไปนอกกรอบ ‘ทวิลักษณ์’ เลย เรายังเห็นโลกเป็นสองข้างขาว-ดำ อยู่เหมือนเดิม และที่สองฝ่ายดูเหมือนมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เพราะคนธรรมดาๆอย่างเราได้ ‘เลือก’ เดินเข้าไปข้างใดข้างหนึ่ง และที่เราทำอย่างนั้น-ก็เพื่อ Empower ตัวเอง

เป็นเรื่องยากมากกว่า ที่จะยั้งตัวเองยืนมองและทำความเข้าใจอยู่ข้างนอก เพราะการกระโดดเข้าร่วมฝั่งใดฝั่งหนึ่ง จะช่วย empower ตัวตนของเรามากขึ้น มีพวก มีฝูง มีคนสนับสนุนโห่ร้องกึกก้อง เสียงของเราจึงดูเหมือน ‘ดัง’ กว่าปกติ (แม้จะเรียกร้องให้ Undo การรัฐประหาร ราวกับคิดว่าตัวเองอยู่ในเกมที่ไม่ได้เซฟ และทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนไป) ส่วนคนที่ไม่ได้อยู่ในกรอบการต่อสู้เหลือง-แดง หรือ อำมาตย์-ทักษิณ ดูจะเหงาโหวงวังเวงราวกับอยู่ในป่าช้า พูดอะไร อธิบายอะไรที่ซับซ้อนแค่ไหนไป-ก็ไม่มีใครฟัง นอกจากไม่มีใครฟังยังถูกด่าซ้ำ

อย่างไรก็ตาม โปรดทำความเข้าใจด้วยว่า เวลาผมพูดถึง ‘ทักษิณ’ หรือ ‘อำมาตย์’ ผมไม่ได้หมายความถึงใครเป็นคนๆไปหรอกนะครับ แต่ผมหมายความถึงสมุหภาพที่ทำให้เกิดคนอย่างนั้นขึ้นมา แล้วที่สุดก็กลายเป็น ‘คนอย่างทักษิณ’ และ ‘คนอย่างอำมาตย์’ กระจายกันอยู่บน ‘ชั้น’ ของ ‘ชน’ ซึ่งได้บอกไปแล้วว่า-ที่แท้คนพวกนี้มันก็คนประเภทเดียวกัน

แล้วเรายังจะศิโรราบเอาคนพวกนี้ขึ้นมาไว้บนหัวของเราอยู่อีกหรือ?
-4-
กลับมาที่คำถามของเธอคนแรก-แล้วเราจะ ‘เลือก’ ฝ่ายไหนดี
คำตอบที่ว่า ‘เลือกฝ่ายที่ยอมให้มีอีกฝ่าย (หรือฝ่ายอื่นๆที่ไม่เห็นด้วยกับตัว) ดำรงอยู่ได้ในสังคมเดียวกัน’ คงเป็นคำตอบที่ไม่ถูกใจทั้งเหลืองและแดงที่ดูจะเป็น Fundamentalism กันไปหมดแล้ว บางคนบอกว่า ให้แยกกลุ่มกันไปเลยเหมือนเดโมแครตกับรีพับลิกัน แต่ผมคิดว่าเราเทียบเคียงแบบนั้น ‘ยัง’ ไม่ได้ เพราะคนที่เป็นเดโมแครตกับรีพับลิกันนั้น อย่างน้อยที่สุดต่างก็มีความ ‘เท่าเทียม’ กันโดยทั่วไปในสภาพความเป็นอยู่ ในชีวิตที่เป็น ‘จริง’ ของตัวเอง อย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็มีชีวิตอยู่รอดได้ ‘จริง’ ในสภาพสังคมโดยทั่วไปของประเทศแห่งนั้น

แต่แม่ค้านัยน์ตาว่างเปล่าบนท้องถนนสองคนนั่นต่างหาก พวกเธอและ ‘คนอย่างพวกเธอ’ ไม่มีกะจิตกะใจจะ ‘ต่อสู้’ กับอะไรหรอกครับ เพราะแค่ต่อสู้เพื่อเอาชีวิตให้รอด ก็ยังลำบาก ช้างสารที่ไหนจะรบกันก็เชิญรบกันไปเถิด คนที่เจียมตัวเสมอว่าเป็นหญ้าแพรก ขอหนีจากตีนช้างให้ได้ก็พอแล้ว

แต่คำถามก็คือ เราจำเป็นต้อง ‘เจียมตัว’ ว่าเราไม่มีอำนาจหรือมีอำนาจจำกัดจำเขี่ยตลอดไปจริงๆหรือ

ปลดแอกออกมาเป็นเหลือง แดง เขียว ม่วง ขาว เทา ดำ หรือสีรุ้ง ที่เป็นตัวของตัวเองและหัดยอมรับคนที่คิดต่างอย่างแท้จริงได้ไหม

การต่อสู้นั้นจะได้บริสุทธิ์ และผมจะได้สะดวกใจที่จะก้าวเข้าไปร่วมมือกับพวกคุณด้วยคนเสียที

เพราะมีแต่เมื่อทำได้อย่างนี้ จึงจะเป็นการต่อสู้ของประชาชนอย่างแท้จริง

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น