โรคเบาหวาน ต้องรู้กันก่อนว่าโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพอาหารที่เรารับประทานเข้าไปนั้น ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดเพื่อใช้เป็นพลังงาน เซลล์ในตับอ่อนชื่อเบต้าเซลล์ เป็นสร้างอินซูลิน อินซูลินเป็นตัวนำน้ำตาลกลูโคสเข้าเซลเพื่อใช้เป็นพลังงาน โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดขึ้นเนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง เนื่องจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเป็นเวลานาจะเกิดโรคแทรกซอนหลายโรคตามมา ซึ่งจะกล่าวอีกครั้งในเรื่องของพรรคพวกและผู้ร่วมคณะของโรคเบาหวาน
อินซูลินนั้นเป็นชื่อที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่งกับโรคเบาหวาน อินซูลินเป็นฮอรโมนสำคัญตัวหนึ่งของร่างกาย สร้างและหลั่งออกมาจากตับอ่อน ทำตัวเป็นพาหนะนำพาน้ำตาลกลูโคลสเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายเพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานเพื่อการดำเนินชีวิต ถ้าขาดอินซูลินหรืออินซูลินทำงานบกพร่อง ออกฤทธิ์ไม่ดีเท่าที่ควร ร่างกายก็จะใช้น้ำตาลไม่ได้ จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูง มีอาการต่าง ๆ ของโรคเบาหวานนอกจากมีความผิดปกติอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการสลายของสารไขมันและโปรตีน
เบาหวานนั้น เราสามารถพบกับคนทุกวัย แต่จะพบมากกับบุคคลที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป คนในเมืองเป็นมากกว่าคนในชนบท เพราะจากการดำเนินชีวิต อาหารการกิจคนอ้วนมีโอกาสเป็นมากกว่าคนผอม คนมีลูกมากมีโอกาสเป็นมากกว่าคนมีลูกน้อย
เบาหวานมี 2 ชนิด คือ
1. เบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน (Insulin-de-pendent diabetes mellitus/IDDM) การเป็นเบาหวานชนิดพบได้น้อย แต่มีความรุนแรงและอันตรายมากกว่าในอีกประเภทหนึ่ง สำหรับผู้ที่เบาหวานชนิดนี้นั้น ตับอ่อนของผู้ป่วยนั้นจะสร้างอินซูลินได้น้อยมาก หรือสร้างไม่ได้เลย ไม่ได้เกิดจากอาหารการกิน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ หรือความเสื่อมของอวัยวะร่างกาย แต่เกิดจากการที่ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ขึ้นต่อต้านทำลายตับอ่อนของตัวเองจนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ซึ่งเกิดมาจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ร่วมกับการติดเชื้อหรือการได้รับสารพิษจากภายนอก ดังนั้นโรคเบาหวานประเภทนี้เราอาจจะได้พบได้กับเด็ดที่มีอายุน้อยแต่อาจจะพบได้กับผู้สูงอายุบ้างแต่ไม่มาก ดังนั้นผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานทุกวัน เพราะร่างกายผลิตเองไม่ได้ ต้องฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อเผาผลาญน้ำตาลให้เป็นปกติ
2. เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (Non-Insulin-Dependent diabetes mellitus/NIDDM) เบาหวานชนิดนี้มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไป ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะเป็นเบาหวานประเภทนี้ ซึ่งเบาหวานประเภทนี้จะพบในผู้ป่วยที่อายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ก็พบบ้างกับคนอายุน้อย เบาหวานชนิดนี้ตับอ่อนของผู้ป่วยยังสามารถที่จะสร้างอินซูลินได้ แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อาหารที่เรารับประทานเข้าไปเมื่อกลายเป็นน้ำตาลแล้วร่างกายนำไปใช้ไม่หมด น้ำตาลที่เหลือก็จะกลายเป็นเบาหวานได้ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดนี้ ควบคุมได้โดยการรับประทานยาคุมเบาหวาน และโดยการควบคุมการรับประทานอาหารชนิดที่คุมน้ำตาลในเส้นเลือดให้เป็นปกติ แต่ในบางครั้งถ้าน้ำตาลสูงมากเกินไปจนยาที่รับประทานและการควบคุมการรับประทานอาหารเอาไม่อยู่ก็ต้องพึ่งอินซูลินเป็นบางครั้งแต่ไม่เสมอไป ก็ต้องถือว่าเป็นเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน
สาเหตุของเบาหวาน
เบาหวานใช่ว่าจะเป็นกันทุกคน ผู้มีปัจจัยเสี่ยงมากย่อมมีโอกาสที่จะเป็นเบาหวานมากขึ้นและสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำลักษณะของผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงได้แก่
- พันธุกรรมคือปัจจัยสำคัญ ถ้าพ่อแม่ พี่น้องสายตรงเป็น จัดว่าอัตราเสี่ยงมากที่สุด
ผู้ต้องสงสัยเป็นโรคเบาหวาน เบาหวานเป็นโรคกรรมพันธุ์อันมีสาเหตุมาจากยีน หรือโครโมโซมเป็นตัวการ แต่เป็นกรรมพันธุ์แบบหลายปัจจัย คือ อาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมหลายตำแหน่ง หลายแบบที่แตกต่างกันไป จึงมีความเสี่ยงต่างกันไปด้วย ดังนั้น ถึงคุณจะเป็นทายาทเบาหวานแต่ก็ใช่ว่าจะมีโอกาสเป็นเบาหวานแน่นอน หรือเหมือนกัน 100%
- มีอายุตั้งแต่ 45 ปี ขึ้นไป เนื่องจากตับอ่อนจะสังเคราะห์ และหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลง
- มีความดันโลหิตมากกว่า หรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
- เป็นโรคอ้วน ดัชนีมวลกายมีค่าตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป หรือน้ำหนักเกิน 20 % ของน้ำหนักที่ควรเป็น
- ทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง และไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก มีเส้นใยอาหารต่ำ
- ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย มีโอกาสเกิดโรคเบาหวานสูงขึ้น 2-4 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ออกกำลังกาย หรือใช้แรงงานสม่ำเสมอ
- เชื้อชาติบางเชื้อชาติ เช่น แอฟริกัน-อเมริกัน มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าชนชาติอื่นๆ
- เคยตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ หรือเคยตรวจพบความทนต่อน้ำตาลบกพร่องแต่ไม่ถึงเกณฑ์ที่จัดเป็นเบาหวาน
- ร่างกายขาดธาตุโครเมี่ยม ส่งผลประสิทธิภาพของสารGTF ที่มีอยู่ในโครเมี่ยมซึ่งต้องทำงานร่วมกับอินซูลินในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดน้อยลง
- ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ (HDL โคเลสเตอรรอลมีค่าน้อย 35 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และไตรกลีเซอไรด์มีค่ามากกว่า 250 มิลิกรัม/เดซิลิตร
- เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
- เป็นโรคที่รังไข่มีถุงน้ำหลายถุง(Polycystic overian syndrome)
- ความเครียดจะมีผลไปกระตุ้นให้มีการหลั่งของฮอร์โมนหลายตัวในร่างกายซึ่งขัดขวางการทำงานของอินซูลิน
- มียาหลายชนิดที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยารักษาวัณโรคบางตัว ยาขับปัสสาวะและยาคุมกำเนิดบางชนิด ผู้ที่ทานยาเหล่านี้เป็นประจำจัดว่าเสี่ยง
- ผู้ที่เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของตับอ่อน หรือมีการอักเสบที่ตับอ่อนจากเชื้อไวรัส
- ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ สุราจะทำให้ตับอ่อนเสื่อมสมรรถภาพได้
- ผู้ที่มีอากรปัสสาวะบ่อยหิวน้ำบ่อย หรือน้ำหนักลด
- ผู้ที่มีประวัติติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอด หรือผิวหนังบ่อยๆ โดยเฉพาะจากเชื้อรา
- ผู้ที่ตับอ่อนได้รับกระทบกระเทือนเนื่องจากอุบัติเหตุ
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น คางทูม หัดเยอรมัน
อาการที่บ่งบอกของโรคเบาหวาน
เบาหวานขณะที่เป็นน้อยจะไม่มีอาการจะทราบว่าเป็นได้จากตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะหรือพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงเท่านั้น ถ้ามีอาการแสดงว่าเป็นมากและเป็นนานแล้ว โดยจะพบอาการสำคัญ 3 ประการ หรือที่เรียกว่า Classic Triad อย่างชัดเจน ได้แก่
- ปัสสาวะมาก เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าขีดจำกัดของไต ร่างกายจะไปดึงน้ำออกจาเซลล์ เพื่อขับน้ำตาลส่วนเกินนั้นออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยๆ ครั้งละมากๆ ต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนหลายครั้ง
- กระหายน้ำบ่อย เมื่อเสียน้ำจำนวนมากร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ทานน้ำทดแทน จึงรู้สึกปากคอแห้งและกระหายน้ำมาก ต้องดื่มน้ำบ่อยและในปริมาณเพิ่มขึ้น
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อร่างกายไม่สามารถนำกลูโคสไปใช้ได้ ปริมาณไขมัน และโปรตีนในร่างกายจึงถูกนำมาใช้เป็นพลังงาน ร่วมกับภาวะขาดน้ำ จึงทำให้น้ำหนักลด
นอกจากอาการทั้ง 3 แล้ว ยังมีอาการอีกหลายอย่าง ซึ่งจะทวีความรุนแรงและลุกลามมากขึ้นตามลำดับ หากได้รับรับการรักษาที่ถูกวิธี อาทิ
- หิวบ่อย ทานจุ เหนื่อยง่าย ใจสั่น ไม่ค่อยมีแรง หน้ามืด เวียนศรีษะ เนื่องจากร่างกายขาดพลังงาน ร่วมกับขาดน้ำจากการปัสสาวะบ่อย
- เป็นแผลหายช้า คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้หญิง สาเหตุของอาการคั้นเนื่องจากผิวแห้งมาก หรือมีการอักเสบของผิวหนัง
- ระดับกลูโคสในกระแสเลือดสูง อาจทำให้เลนส์ตาเปลี่ยนรูปได้เล็กน้อย จึงเกิดอาหารพร่ามัวต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสายตา เช่น สายตาสั้น ต้อกระจก
- อาการชา ไม่ค่อยมีความรู้สึก เจ็บตามแขน ขา หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องมาจากเบาหวาน จะทำลายเส้นประสาทให้เสื่อมสมรรถภาพลง ความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกจึงถดถอยลง
- ลมหายใจมีกลิ่นเหมือนเหมือนผลไม้
- หายใจหอบลึกและเร็ว
- ความดันโลหิตลดลง
- เกิดอาการอ่อนล้าเพิ่มขึ้น หงุดหงิดง่าย
ทางแก้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กที่เป็นโรคเบาหวาน
- ดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำ ควบคู่กับทานผลไม้ไม่หวานจัดและมีกากใยสูง เพราะร่างกายของเด็กไม่ได้ต้องการน้ำตาลเพิ่ม แต่ต้องการน้ำ วิตามินและเกลือแร่เพื่อทดแทนที่เสียไปกับปัสสาวะ ส่วนกากไยจะช่วยชะลอกากย่อย ทำให้ร่างกายเผาผลาญ น้ำตาลได้มากขึ้น
- เลี่ยงขนมหวานจัดให้ไกล เพราะจะทำให้ลิ้นของลูกรับรู้รสเปลี่ยนไป รับของจืดไม่ได้ และเพิ่มปริมาณความหวานขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วยการกินอาหารที่มันและเค็ม
- เด็กที่กินนมแม่มีโอกาสอ้วนน้อยกว่าเด็กที่กินนมผง แม้พ่อแม่จะมีประวัติเป็นโรคเบาหวานก็ตาม จึงแนะนำให้ลูกกินนมแม่ไปจนอายุ 1-2 ขวบ หากเป็นไปได้
- ส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กแอ็คทีฟ โดยชักชวนให้มีกิจวัตรประจำวันที่ได้ใช้กำลังแขน กำลังขาเหมาะสมตามวัยให้มาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอไม่ขลุกอยู่แต่กับโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์
- ติดตามดูการเจริญเติบโตของร่างกายลูกทั้งน้ำหนักและส่วนสูงกว่าสัมพันธ์กัน เป็นไปตามเกณฑ์อายุหรือไม่ พร้อมๆ กับดูแลเรื่องพฤติกรรมการทานของลูก เพราะสิ่งนี้จะเป็นเครื่องมืออย่างดีที่ช่วยบอกได้ว่าลูกมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะอ้วน หรือภาวะเบาหวาน
- ภาวะความเครียดทางด้านอารมณ์ จิตใจมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนต่างๆของร่างกาย ดังนั้นเด็กที่มีความสุขจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีกว่าเด็กที่มีความเครียด
- ไม่มีสูตรเฉพาะตัวของปริมาณอาหารและยาฉีดอินซูลินที่เหมาะสมกับผู้เป็นเบาหวาน ดังนั้นพ่อแม่ควรมีสมุดบันทึกข้อมูลผลระดับน้ำตาลในเลือด การทานอาหารและกิจวัตรประจำวันของลูก เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปริมาณอินซูลินที่ต้องการ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่ละมื้อ และแต่ละสถานการณ์
- คำนวณสัดส่วนอาหารคาร์โบไฮเดรตให้สัมพันธ์และหมาะสมกับยาฉีดอินซูลิน กิจวัตรประจำวัน และการออกกำลังกายของลูก
ระดับน้ำตาลที่เหมาะสม ของเด็กที่เป็นโรคเบาหวาน
- ช่วงอายุ ต่ำกว่า 6 ปี => ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้า 100 – 180 มก./ดล. และระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารเช้า (2 ชั่วโมง) 100 – 200 มก./ดล. และระดับน้ำตาลในเลือดก่อนนอน 100 – 150 มก./ดล.
- ช่วงอายุ 6-10 ปี => ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้า 80 – 180 มก./ดล. และระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารเช้า (2 ชั่วโมง) 80 – 180 มก./ดล. และระดับน้ำตาลในเลือดก่อนนอน 100 – 150 มก./ดล.
- ช่วงอายุมากกว่า 11 ปี => ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้า 70 – 150 มก./ดล. และระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารเช้า (2 ชั่วโมง) 80 – 180 มก./ดล. และระดับน้ำตาลในเลือดก่อนนอน 100 – 150 มก./ดล.
เบาหวานขณะตั้งครรภ์
เบาหวานขณะตั้งครรภ์พบในขณะตั้งครรภ์ มีความซุกของโรคประมาณร้อยละ 1-14 ขึ้นอยู่ในเชื้อชาติ โรคนี้มีผลทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติหรือาจะทำให้แท้งได้ถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม การตรวจคัดกรองทำได้โดยตรวจระดับน้ำตาลในหญิงที่ตั้งครรภ์ทุกราย ระหว่างช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ หรือจะเลือกตรวจเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงก็ได้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยทางการแพทย์ สำหรับว่าที่คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรได้รับการดูแลรักษาภาวะนี้อย่างเหมาะสม
เอาเป็นว่า ถ้าคุณหมอตรวจพบว่าเป็นเบาหวานก็ไม่ต้องตกใจ ลูกในครรภ์จะเติบโตได้เป็นปกติถ้ารู้จักรักษา ด้วยการดูแลตัวเองและทานอาหารให้พอเหมาะ
ชนิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. เบาหวานที่เป็นมาตั้งครรภ์ โรคนี้คุณแม่เป็นเบาหวานมาก่อน แล้วจึงตั้งครรภ์ ซึ่งการตั้งครรภ์จะมีผลต่อโรคเบาหวาน คือ การควบคุมระดับน้ำตาลยากขึ้น และเป็นภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของโรคเบาหวานได้ง่ายในช่วงไตมาสแรกของการตั้งครรภ์ ในระยะแพ้ท้องมีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ง่าย รับประทานได้น้อย ขณะที่ไตรมาส ที่ 2 มักมีปัญหาน้ำตาลในเลือดสูงจากการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของแม่ ซึ่งฮอร์โมนนี้มีฤทธิ์ต้านอินซูลิน อีกทั้งยังมีอาการเบาหวานขึ้นตาและเกิดผลแทรกซ้อนทางไตเพิ่มขึ้น มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษและการติดเชื้อแบคทีเรียง่ายขึ้น โดยเฉพาะต่อกรวยไต นอกจากนี้ ทารกจะตัวใหญ่ทำให้คลอดเองได้ยากเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอด ส่วนผลต่อทารกก็อันตรายไม่แพ้กัน เสี่ยงต่อการแท้งบุตร ทารกพิการแต่กำเนิด หรือเติบโตช้าในครรภ์
2. เบาหวานที่เป็นเฉพาะขณะตั้งครรภ์ ในผู้ที่ไม่เคยมีประวัติการเป็นเบาหวานมาก่อน ก็อาจเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากฮอร์โมนที่รกสร้างขึ้นต้านฤทธิ์การทำงานของอินซูลินโดยเฉพาะไตรมาสที่2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายของแม่ต้องใช้อินซูลินมากกว่าปกติถึง 2-3 เท่า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ดังนั้น แพทย์จึงมักตรวจคัดกรองเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 24-28 สัปดาห์ ยกเว้นว่ามีความเสี่ยงสูงมากอาจต้องมีการตรวจตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์
ปัจจัยเสี่ยงกับโรคเบาหวาน ของคุณแม่ตั้งครรภ์
- อายุมากกว่า30 ปี
- มีน้ำหนักเกินก่อนตั้งครรภ์
- มีประวัติเบาหวานในญาติสายตรง
- อ้วน หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
- เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในครรภ์ก่อน
- ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ
- เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
- เคยมีประวัติแท้งบุตรโดยไม่ทราบสาเหตุบ่อยๆ หรือครรภ์เป็นพิษ
- ความดันโลหิตสูง และภาวะไขมันในเลือดสูง
- มีประวัติเป็นซีสต์รังไข่
การตรวจเบาหวานของคุณแม่ตั้งครรภ์
หญิงมีครรภ์มีวิธีตรวจเบาหวานที่แตกต่างจากคนทั่วไป โดยวิธีคัดกรองเริ่มด้วยการดื่มน้ำตาลกลูโคสผง 50 กรัมละลายน้ำ โดยไม่ต้องอดอาหาร หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง เจาะเลือดไปตรวจถ้าค่าน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าปกติ แต่ถ้ามีค่าตั้งแต่ 140 หรือสูงเกินกว่านี้ถือว่าเสี่ยงเป็นเบาหวาน ต้องไปตรวจวินิจฉัยเฉพาะลงไปอีก โดยก่อนตรวจจะต้องอดอาหาร 8-10 ชั่วโมง และเจาะเลือดหาระดับกลูโคสก่อนทานน้ำตาล จากนั้นให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 100 กรัมผสมกับน้ำ เสร็จแล้วเจาะเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือดชั่วโมงที่ 1 ชั่วโมงที่ 2 และชั่วโมงที่ 3 นำผลที่ได้ทั้ง 4 ครั้ง มาเปรียบเทียบดู
ก่อนดื่มค่าไม่ควรเกิน 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ชั่วโมงแรกไม่ควรเกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ชั่วโมงที่ 2 ไม่ควรเกิน 155 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และชั่วโมงที่ 3 ไม่ควรเกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถ้าค่าที่ออกมาผิดปกติตั้งแต่ 2 ค่าใน 4 ค่า จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรเริ่มรักษาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีพอตามเกณฑ์ในตารางสำหรับผู้ตั้งครรภ์ แพทย์อาจจะต้องเริ่มยา โดยต้องเป็นยาฉีดอินซูลิน เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลสูงเกินไป
ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกและคุณแม่ตั้งครรภ์
ผลที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทั้งต่อทารกในครรภ์และต่อคุณแม่ ทำให้เสี่ยง ดังนี้
- ทารกตัวโต ถ้าคลอดเองอาจะมีการบาดเจ็บต่อไหล่ หรือได้รับอันตรายระหว่างคลอดได้ จำเป็นต้องคลอดด้วยวิธีผ่าตัดทางหน้าท้องแทนการคลอดปกติ
- ทารกอาจเสียงชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์
- เด็กที่เกิดมามีโอกาสเกิดน้ำตาลและแคลเซียมในเลือดต่ำได้ง่าย ส่งผลให้ทารกมีอาการชักได้
- ทารกมีภาวะเหลือและเลือดข้น
- อาจเกิดมาพร้อมกับปัญหาหายใจหอบเนื่องจากปอดยังทำงานไม่ได้เต็มที่
- ลูกมีแนวโน้มเป็นเบาหวานเมื่อโต ส่วนแม่ก็เกิดความดันโลหิตสูงได้ง่าย
- อาจเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น อวัยวะพิการแต่กำเนิด อาทิ หัวใจ สมองและไต แต่ก็พบได้น้อยมากในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากอวัยวะเด็กจะเริ่มสร้างเมื่ออายุครรภ์ 13 สัปดาห์ แต่โรคเบาหวานมักจะเกิดหลัง 12 สัปดาห์แล้ว
- มารดาเกิดครรภ์เป็นพิษได้สูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งทำให้มีความดันโลหิตสูง ถ้าสูงมากคุณแม่อาจจะชักและแท้งได้
- คุณแม่รู้สึกอึดอัดเพราะน้ำคร่ำมากไป ทำให้ทานอาหารได้น้อย
- ทางเดินปัสสาวะของแม่อักเสบ ซึ่งอาจจะลุกลามสู่การติดเชื้อที่ไตได้
การปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์
- ควบคุมน้ำหนักตัวระหว่างการตั้งครรภ์ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คือ ประมาณ 10 – 12 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์
- ประเมินระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลด้วยตัวเอง เพื่อตรวจเช็คว่าสามารถควบคุมได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้หรือไม่ และควรจะเจาะน้ำตาลหลังอาหารบ่อยกว่าน้ำตาลก่อนอาหาร
- ทานอาหารอย่างระมัดระวัง ถูกหลักโภชนาการ มีปริมาณแคลลอรีที่เหมาะสม มีสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอตามคำแนะนำของโภชนาการ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน หรือแป้งมาก เน้นอาหารที่มีโปรตีนสูงโดยไม่ผ่านการทอดใช้วิธีนึ่งแทนและทานผักหลายหลายชนิด โดยเฉพาะผักใบเขียว
- หากคุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินปกติอยู่ก่อน นอกจากอาหารมันๆ และหวานๆ แล้ว ควรจำกัดอาหารจำพวกข้าว หรือแป้ง และหลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน ผลไม้รสหวานจัด
- ปรับเปลี่ยนแนวความคิดเดิมที่ว่า เมื่อตั้งครรภ์จะต้องบำรุงให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเยอะๆ เพราะอาจเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว จนส่งผลเสียต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้
- ควรพบแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อตรวจน้ำตาลในเลือด เพราะบางครั้งการจำกัดอาหารอาจไม่เพียงพอ ในที่สุดต้องฉีดอินซูลินหรือต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล
- ตรวจความดันโลหิตและประมาณไข่ขาวในปัสสาวะ เพื่อเฝ้าติดตามเรื่องความดันโลหิตและภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ตรวจทารกโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเมื่ออายุครรภ์ 6-7 เดือน
- แนะนำให้คลอดเมื่อตั้งครรภ์ประมาณ 38 สัปดาห์ หากอายุครรภ์มากกว่านี้โอกาสที่เด็กจะตัวโตจนคลอดเองได้ยากมีมาก
ข้อระวัง ไม่ควรใช้วิธีการตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะในการปรับยา แต่ควรวัดระดับน้ำตาลด้วยการเจาะเลือดปลายนิ้ว
ข้อปฏิบัติตัวหลังคลอด
- หลังคลอด แพทย์ต้องเจาะดูระดับน้ำตาลในเลือดทารก ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำ ต้องให้สารน้ำที่มีกลูโคสแก่เด็กทารกแรกเกิดทันทีเพราะเด็กเคยชินกับสภาพน้ำตาลสูง อินซูลินจากตับอ่อนมาก เมื่อคลอดออกมาน้ำตาลจากแม่ลดลง จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้เด็กมีภาวะขาดน้ำตาลในกระแสเลือดจนเป็นอันตรายได้
- หญิงที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ พบว่ามีถึงร้อยละ 50 มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ภายใน 5-10 ปีหลังคลอด ดังนั้น หลังคลอดประมาณ 6 สัปดาห์ แพทย์จะนัดตรวจ เพื่อประเมินว่าคุณแม่เป็นเบาหวานหรือไม่ ถ้าไม่เป็นควรจะต้องตรวจเลือดติดตามอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง
- โรคเบาหวานมักหายไปหลังคลอดบุตรแล้ว แต่ถ้าเป็นเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานมากขึ้นถึงร้อยละ 30-50 ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดเบาหวานในอนาคตควรจะต้องควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- การในนมแม่มีประโยชน์มหาศาล ถึงแม้คุณแม่เป็นเบาหวานก็สามารถให้นมบุตรได้ ช่วยให้ลูกแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต่อความเจ็บป่วย ทั้งยังทำให้แม่ได้ลดน้ำหนักหลังคลอดได้เร็วขึ้น รวมทั้งสร้างความผูกพันที่ยิ่งใหญ่ระหว่างแม่กับลูก
- ถ้าตั้งครรภ์อีกครั้ง ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น ดังนั้น ควรจะวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ จะปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะตั้งครรภ์อีกครั้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น