๑. ความสมบูรณ์ของการทำสัญญาจ้างแรงงาน - นายจ้างและลูกจ้างมีสิทธิที่จะแสดงเจตนาทำสัญญาจ้างแรงงานกัน โดยทำเป็นหนังสือหรือโดยปากเปล่าก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งถ้ามีการแสดงเจตนาขัดต่อกฎหมายดังกล่าวย่อมทำให้ตกเป็นโมฆะได้
๒. การคุ้มครองกำหนดเวลาในการทำงาน ให้นายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติของลูกจ้างไว้ดังต่อไปนี้
(๑) งานทั่วไป วันละ ๘ ชั่วโมง และเมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน สัปดาห์ละ ๔๘ ชั่วโมง
(๒) งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนด เช่น งานที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ งานผลิตสารเคมี อันตราย เป็นต้น ไม่เกินวันละ ๗ ชั่วโมง และเมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน สัปดาห์ละ ๔๒ ชั่วโมง
๓. สิทธิของลูกจ้างในการพักผ่อนระหว่างทำงาน
- ในวันที่ทำงาน นายจ้างต้องกำหนดให้ลูกจ้างมีเวลาพักอย่าง น้อย ๑ ชั่วโมงต่อวัน ภายหลังที่ได้ให้ทำงานไปแล้วไม่เกิน ๕ ชั่วโมง แต่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักน้อยกว่าครั้งละ ๑ ชั่วโมงก็ได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่าวันละ ๑ ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นงานที่ลูกจ้างทำในหน้าที่ที่มีลักษณะต้องทำติดต่อกันไปโดยได้รับ ความยินยอมจากลูกจ้างแล้ว หรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจไม่จัดให้ลูกจ้างมีเวลาพัก หรือมีเวลาพักน้อยกว่าที่กำหนดก็ได้
- กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักไม่น้อยกว่า ๒๐ นาทีก่อนที่ลูกจ้างจะทำงานล่วงเวลา อย่างไรก็ตามเวลาพักไม่นับเป็นเวลาทำงาน เว้นแต่เวลาพักที่เกินวันละ ๒ ชั่วโมงต้องนับเวลาที่เกิน ๒ ชั่วโมงนั้น เป็นเวลาทำงานปกติ
๔. สิทธิของลูกจ้างในการมีวันหยุด
(๑) ประเภทของวันหยุด
- วันหยุดประจำสัปดาห์ ลูกจ้างมีสิทธิหยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน ๖ วัน นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้ากำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้ หรืออาจจะตกลงล่วงหน้าให้มีการสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ไปเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาไม่เกิน ๔ สัปดาห์ติดต่อกัน ถ้าเป็น งานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า หรืองานที่ทุรกันดาร
-วันหยุดตามประเพณี ปีหนึ่งนายจ้างต้องกำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบ ธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น และประกาศกำหนดวันหยุดให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ปีละ ๑๓ วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย และถ้าวันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ก็ให้เลื่อนวันหยุดตามประเพณีวันนั้นไปหยุดในวันทำงานถัดไป
- วันหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ ๑ ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้อย่างน้อยปีละ ๖ วันทำงาน โดย นายจ้างกำหนดล่วงหน้าให้หรือกำหนดให้ตามที่ตกลงกับลูกจ้าง ซึ่งในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดให้มากกว่า ๖ วันทำงานก็ได้ หรือถ้าลูกจ้าง ทำงานยังไม่ครบ ๑ ปี นายจ้างก็อาจกำหนดให้โดยคำนวณตามส่วนก็ได้ นอกจากนั้น นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในปีอื่นก็ได้ ซึ่งถ้าลูกจ้างมีสิทธิหยุดแล้วยังไม่ได้ใช้สิทธิและถูกเลิกจ้างเสียก่อนโดยไม่ได้กระทำความผิดอันทำให้หมดสิทธิได้รับค่าชดเชย นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิ รวมทั้งวันหยุดพักผ่อนประจำปี สะสมด้วย
(๒) สิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุด
ถ้าจะให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดตามข้อหนึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า ๒ เท่าของค่าจ้างในวันทำงาน สำหรับ ลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด เช่น ลูกจ้างรายวัน เป็นต้น แต่ถ้าเป็นลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดอยู่แล้ว เช่น ลูกจ้างรายเดือน เป็นต้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดในอัตราเพิ่มขึ้นอีก ไม่น้อยกว่า ๑ เท่าของค่าจ้างในวันทำงาน
สิทธิของลูกจ้างในเรื่องเวลาพักผ่อนและวันหยุดต่างๆ ข้างต้นนี้ ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน เช่น คนรับใช้ เป็นต้น จะ ไม่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองให้มีวันหยุดต่างๆ เว้นแต่สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งคงมีสิทธิเพียงอย่างเดียว
๕. สิทธิลาของลูกจ้าง
- ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยมีสิทธิได้ค่าจ้างเท่ากับ ค่าจ้างในวันทำงานตลอดเวลาที่ลาป่วย แต่ไม่เกินปีละ ๓๐ วัน โดยวันลาป่วยดังกล่าวไม่นับรวมวันที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้เพราะประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานและวันลาเพื่อคลอดบุตร
- ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อรับราชการทหารโดยได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินปีละ ๖๐ วัน ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาคลอด ครรภ์หนึ่งไม่เกิน ๙๐ วัน โดยได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน ๔๕ วัน (วันลาดังกล่าวนับรวมวันหยุดด้วย)
- ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อทำหมันและเนื่องจากการทำหมันตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด และออกใบรับรองโดยได้รับค่าจ้างสำหรับวันลา ดังกล่าวด้วย
- ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
- ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยไม่ได้รับค่าจ้าง แต่ถ้าเป็นลูกจ้างเด็ก มีสิทธิลาเพื่อเข้าประชุม สัมมนา รับการฝึกอบรมหรือลาเพื่อการอื่น ซึ่งจัดโดยสถานศึกษาหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเห็นชอบเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานโดยได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกินปีละ ๓๐ วัน
- ลูกจ้างที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อไปดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานในฐานะผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาไกล่เกลี่ย และชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานและมีสิทธิลาเพื่อไปประชุมตามที่ราชการกำหนด แต่ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าพร้อมแสดงหลักฐานด้วย และให้ถือว่าวันลาของลูกจ้างนี้เป็นวันทำงาน
๖. สิทธิขอเปลี่ยนงานชั่วคราวของหญิงมีครรภ์
- หญิงมีครรภ์ซึ่งไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมได้มีสิทธิขอเปลี่ยนงานชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดโดยแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง ประกอบด้วย นอกจากนั้นหญิงมีครรภ์ยังได้รับความคุ้มครองที่จะไม่ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ด้วย
๗. การคุ้มครองแรงงาน
(๑) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ*
เมื่อประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีผลใช้บังคับแล้ว นายจ้างจะต้องปิดประกาศดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยเพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบ ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับ และนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ในขณะนี้มี ๓ อัตราคือ
๑.๑ วันละ ๑๖๒ บาท ในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัด สมุทรสาคร จังหวัดนครปฐมและจังหวัดภูเก็ต
๑.๒ วันละ ๑๔๐ บาท ในท้องที่จังหวัดชลบุรี จังหวัด สระบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดระนอง และจังหวัดพังงา ๑.๓ วันละ ๑๓๐ บาท ใน ๖๓ จังหวัดที่เหลือ
(๒) ค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด
- ถ้านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานเกินหรือเกินเวลาทำงานปกติให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า ๑ เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติสำหรับเวลาที่ทำเกิน
- ถ้านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็นอัตรา ๓ เท่าของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับจำนวนชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ
ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับค่าจ้าง คือ
๒.๑ลูกจ้างที่นายจ้างให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่อื่นไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดในระหว่างเดินทาง เว้นแต่จะมีข้อตกลงให้นายจ้างจ่ายให้
๒.๒ ลูกจ้างที่ทำงานบางลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ การลดค่าจ้างหรือการเลิกจ้าง
(ข) งานขบวนการจัดงานรถไฟ ซึ่งได้แก่งานที่ทำบนขบวนรถและงานอำนวยความสะดวกแก่การเดินรถ
(ค) งานปิดเปิดประตูน้ำหรือประตูระบายน้ำ
(ง) งานอ่านระดับน้ำและวัดปริมาณน้ำ
(จ) งานดับเพลิงหรือป้องกันอันตรายสาธารณะ
(ฉ) งานที่มีลักษณะหรือสภาพที่ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้
(๓) ค่าทำงานในวันหยุด ถ้านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดซึ่ง
-กรณีลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า ๑ เท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมง ที่ทำงานในวันหยุด
-กรณีลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า ๒ เท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด
(๔) ห้ามหักค่าจ้าง นายจ้างจะหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าทำงานในวันหยุดไม่ได้ เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ
(ก) ชำระภาษีเงินได้หรือเงินอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
(ข) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพ แรงงาน
(ค) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันหรือหนี้เพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยลูกจ้างยินยอมล่วงหน้า
(ง) เป็นเงินประกันการทำงานหรือประกันความเสียหายจากการทำงาน หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยลูกจ้างยินยอม
(จ) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม การหักตาม (ข) (ค) (ง) และ (จ) แต่ละกรณีจะหักเกินร้อยละ ๑๐ ไม่ได้และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่าย เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
๘. สิทธิได้รับเงินทดแทน
เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายเพราะเหตุที่ทำงานให้นายจ้างหรือขณะทำงาน ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามประเภทดังต่อไปนี้
(๑) ค่ารักษาพยาบาล ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล ที่จำเป็นต้องจ่าย แต่ไม่เกิน ๓๕,๐๐๐ บาท และถ้าบาดเจ็บรุนแรงอาจได้เพิ่มอีกไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท
(๒) ค่าทดแทน เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนดังต่อไปนี้
๒.๑ ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ ลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกิน ๓ วัน ไม่ว่าลูกจ้างนั้นจะเสียอวัยวะตาม ๒.๒ ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายนับแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดเวลาที่ไม่สามารถทำงานติดต่อกัน แต่ต้องไม่เกิน ๑ ปี
๒.๒ ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกาย โดยจ่ายตามประเภทของการสูญเสียอวัยวะ และตามระยะเวลาที่จะต้องจ่ายให้ตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกำหนด แต่ต้องไม่เกิน ๑๐ ปี เช่น แขนขาดข้างหนึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าทดแทนมีกำหนด ๔ ปี ๖ เดือน
๒.๓ ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้าง ต้องทุพพลภาพ โดยจ่ายตามประเภทของการทุพพลภาพและตามระยะเวลา ที่ต้องจ่ายตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกำหนด แต่ต้องไม่เกิน ๑๕ ปี
๒.๔ ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ ลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือสูญหายมีกำหนด ๘ ปี ค่าทดแทนไม่ว่ากรณีใดต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือน ต่ำสุดคือ ๒,๐๐๐ บาท และไม่มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดคือ ๙,๐๐๐ บาท
(๓) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้นายจ้างจ่ายตามความจำเป็น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนี้ ก. ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้วยการแพทย์ และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ข. ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท
(๔) ค่าทำศพ ให้นายจ้างจ่ายค่าทำศพในอัตราเท่ากับ ๑๐๐ เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
-การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยซึ่งเป็นเหตุให้สูญเสียสมรรถภาพ ในการทำงานของอวัยวะไปบางส่วนให้ถือว่าลูกจ้างสูญเสียอวัยวะนั้นด้วย
ลูกจ้างจะไม่ได้เงินทดแทนในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) เสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดอื่นจนไม่สามารถครองสติได้ หมายถึงดื่มสุราหรือสิ่งเสพติดอื่นจนขาดสติ ขาดความยั้งคิดซึ่งเคยมีอยู่ก่อน
(๒) จงใจให้ตนเองประสบอันตราย หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนประสบอันตราย เช่น ไม่อยากถูกเกณฑ์ทหารจึงเอามือแหย่เข้าไปในเครื่องจักรจนถูกตัดขาด เป็นต้น
บุคคลที่มีหน้าที่จ่ายเงินทดแทน
(๑)นายจ้าง ต้องจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างตามประเภทของอันตรายจากการทำงานให้แก่ลูกจ้าง โดยลูกจ้างต้องยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคมแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ ภายใน ๑๘๐ วันนับแต่วันที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย แต่ถ้าการเจ็บป่วยเกิดขึ้นภายหลังการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างต้องยื่นคำร้องภายใน ๒ ปีนับแต่วันทราบการเจ็บป่วย
(๒) กองทุนเงินทดแทน
ถ้านายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน และเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน กองทุนเงินทดแทนก็จะจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง
๙. สิทธิของนายจ้างในการเลิกจ้าง
- นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างด้วยเหตุดังต่อไปนี้
(๑) กรณีสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนดเวลาแน่นอน เช่น ตกลง กัน ๓ ปี เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างแรงงานก็สิ้นสุดลง นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ เว้นแต่ว่าเมื่อถึงกำหนดลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีก และนายจ้างรู้ก็ไม่ว่าอะไร กรณีดังกล่าวต้องถือว่าทั้งคู่ได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยมีข้อตกลงเหมือนเดิม
(๒) กรณีลูกจ้างทำความผิดดังต่อไปนี้ นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
- จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งนั้นเป็นอาจิณ
- ละทิ้งหน้าที่
- กระทำความผิดอย่างร้ายแรง
- ทุจริตต่อหน้าที่
(๓) การเลิกจ้างในกรณีเป็นความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งกระทำผิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
- การทำงานของลูกจ้างตกเป็นพ้นวิสัย
-ลูกจ้างไร้ฝีมือ
-นายจ้างโอนสิทธิหรือลูกจ้างโอนหน้าที่ให้บุคคลภายนอก โดยคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม
(๔) สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ การเลิกจ้างต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า ถ้าสัญญาจ้างแรงงานมิได้กำหนดกันไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าไร นายจ้างจะเลิกจ้างด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้าง หรือค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญา เมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ หรือหมายถึงบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งช่วง การจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้าง แต่ไม่จำเป็นที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินกว่า ๓ เดือน หรือถ้านายจ้างจะเลิกจ้างทันทีก็ได้ โดยจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่จะต้องบอก กล่าวนั้น
(๕) กรณีนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันเลิกสัญญากันเมื่อใดก็ได้
๑๐. สิทธิของลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง
-ในกรณีที่ลูกจ้างกระทำผิดดังต่อไปนี้เมื่อถูกเลิกจ้างลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยคือ
(๑) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(๒) จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย เช่น นัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
(๓) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง อันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว โดยหนังสือเตือนมีผลใช้บังคับไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด เว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน
(๕) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(๖) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หากลูกจ้างได้กระทำผิดตามข้อ (๑)-(๖) ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่หากไม่เข้ากรณีตามข้อ (๑)-(๖) แม้จะเป็นความผิดของลูกจ้างก็ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอยู่
-กรณีลูกจ้างไม่มีความผิด ลูกจ้างมีสิทธิ
(๑) เรียกค่าเสียหาย แม้สัญญาจ้างแรงงานยังไม่สิ้นสุดลงโดยมี การรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิม ลูกจ้างก็ยังอาจมีสิทธิเรียกจาก นายจ้างได้ ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ลูกจ้างจากการถูกเลิกจ้าง
(๒) เรียกค่าจ้างหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เฉพาะกรณีสัญญาจ้างแรงงานมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดลงไว้ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ถ้าต้องการให้ลูกจ้างออกจากงานทันที โดยนายจ้างมีเหตุผลอันสมควรในการเลิกจ้าง
(๓) เรียกค่าชดเชย อัตราค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้างนั้นถือหลักว่า ลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างเป็นเวลานานควรจะได้รับค่าชดเชยมากกว่าลูกจ้างที่มีอายุงานน้อย โดยลูกจ้างที่จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างจะต้องมีอายุการทำงานครบ ๑๒๐ วัน ซึ่งอายุการทำงานของลูกจ้างต้องนับวันหยุดวันลา วันที่นายจ้างอนุญาตให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง และวันที่นายจ้างสั่งให้หยุดเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง โดยมีอัตราในการจ่าย ดังนี้
๓.๑ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๑๒๐ วัน แต่ไม่ครบ ๑ ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๓๐ วัน
๓.๒ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๑ ปี แต่ไม่ครบ ๓ ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๙๐ วัน
๓.๓ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๓ ปี แต่ยังไม่ครบ ๖ ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๑๘๐ วัน
๓.๔ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๖ ปี แต่ยังไม่ครบ ๑๐ ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๒๔๐ วัน
๓.๕ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๑๐ ปีขึ้นไป มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๓๐๐ วัน
-ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิจะได้ค่าชดเชยคือลูกจ้างที่นายจ้างจ้าง โดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลา ของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน ๒ ปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง
(๔) สิทธิที่จะกลับเข้าทำงานตามเดิม โดยได้รับค่าจ้างเท่าเดิม กรณีเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
๑๑. การคุ้มครองการใช้แรงงานหญิง
-นายจ้างจะให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ไม่ได?
(๑) งานเหมืองแร่หรืองานก่อสร้างที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ หรือปล่องในภูเขา เว้นแต่ลักษณะของงานไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายของหญิงนั้น
(๒) งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดิน ตั้งแต่ ๑๐ เมตร ขึ้นไป
(๓) งานผลิตหรือขนส่งวัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ
(๔) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
-นายจ้างอาจให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงทำงานในระหว่างเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา ถึง ๖.๐๐ นาฬิกาได้ แต่ถ้าพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่างานนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของหญิงนั้น และรายงานต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อพิจารณา แล้วอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีคำสั่งให้นายจ้าง เปลี่ยนเวลาทำงานหรือลดชั่วโมงทำงานตามที่เห็นสมควร นายจ้างต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
- กรณีนายจ้างจ้างหญิงมีครรภ์
ก) ห้ามนายจ้างให้หญิงนั้นทำงานในระหว่างเวลา ๒๒.๐๐ น. ถึง ๑๖.๐๐ น. ทำงานล่วงเวลาเพื่อทำงานในวันหยุด
ข) ห้ามนายจ้างให้หญิงนั้นทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน
(ข) งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ
(ค) งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน ๑๕ กิโลกรัม
(ง) งานที่ทำในเรือ
(จ) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ค) ห้ามนายจ้างเลิกจ้างหญิงเพราะเหตุมีครรภ์
ง) หญิงมีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน ๙๐ วัน โดยได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน ๔๕ วัน ซึ่งวันลาดังกล่าว นับรวมวันหยุดในระหว่างวันลาด้วย
จ) หญิงมีสิทธิขอเปลี่ยนงานชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดโดยนำใบรับรองแพทย์มาแสดงว่าไม่สามารถทำงานในหน้าที่เดิมได้ ซึ่งนายจ้างต้องพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้แก่หญิงนั้น
๑๒. การคุ้มครองการใช้แรงงานเด็ก
- นายจ้างไม่อาจรับเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี เข้าทำงานโดย เด็ดขาด
-ในการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังนี้
(๑) แจ้งการจ้างเด็กต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เด็กเข้าทำงาน
(๒) จัดทำบันทึกสภาพการจ้างกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจได้ในเวลาทำการ
(๓) แจ้งการสิ้นสุดการจ้างเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน ๗ วันนับแต่วันที่เด็กออกจากงาน
- นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างเด็กมีเวลาพักวันละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมงติดต่อกัน หลังจากที่เด็กทำงานมาแล้วไม่เกิน ๔ ชั่วโมง แต่ใน ๔ ชั่วโมงนั้นให้ลูกจ้างเด็กได้มีเวลาพักตามที่นายจ้างกำหนด
- ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด
- ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในระหว่างเวลา ๒๒.๐๐ ถึง ๐๖.๐๐ น. เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย แต่ถ้าเป็นงานแสดง ภาพยนตร์ ละคร หรือการแสดงอย่างอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน นายจ้างอาจให้ลูกจ้างเด็กทำงานในระหว่างเวลาดังกล่าวได้ โดยต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักผ่อนตามสมควร
- นายจ้างจะให้ลูกจ้างเด็กอายุตั้งแต่ ๑๕ ปี แต่ยังไม่ถึง ๑๘ ปีบริบูรณ์ ทำงานในลักษณะต่อไปนี้ไม่ได้
(๑) งานหลอม เป่า หล่อ หรือรีดโลหะ
(๒) งานปั๊มโลหะ
(๓) งานเกี่ยวกับความร้อน เย็น สั่นสะเทือน เสียงและแสงที่มีระดับแตกต่างจากปกติอันอาจเป็นอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๔) งานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๕) งานเกี่ยวกับจุลชีวันที่เป็นพิษ ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อไวรัส แบค- ทีเรีย รา หรือเชื้ออื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๖) งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ วัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ เว้นแต่งานในสถานที่บริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๗) งานขับหรือบังคับรถยกหรือปั้นจั่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๘) งานใช้เลื่อยเดินด้วยพลังไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์
(๙) งานที่ทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ อุโมงค์หรือปล่องในภูเขา
(๑๐) งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๑๑) งานทำความสะอาดเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ขณะที่เครื่องจักรหรือเครื่องยนต์กำลังทำงาน
(๑๒) งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดินตั้งแต่ ๑๐ เมตรขึ้นไป
(๑๓) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
-นายจ้างจะให้ลูกจ้างอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง ๑๘ ปีบริบูรณ์ ทำงานในสถานที่ดังต่อไปนี้ไม่ได้
(๑) โรงฆ่าสัตว์
(๒) สถานที่เล่นการพนัน
(๓) สถานที่เต้นรำ รำวงหรือรองเง็ง
(๔) สถานที่มีอาหาร สุรา น้ำชาหรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการโดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้าหรือโดยมีที่สำหรับพักผ่อนหลับนอน หรือมีบริการนวดให้ลูกค้า
(๕) สถานที่อื่น ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- การคุ้มครองเกี่ยวกับค่าจ้าง กรณีที่นายจ้างลูกจ้าง บิดามารดา หรือผู้ปกครองของลูกจ้างเด็กจ่ายหรือรับเงินหรือประโยชน์ตอบแทนใดๆ เป็นการล่วงหน้าก่อนมีการจ้างหรือขณะแรกจ้าง หรือก่อนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเด็กในแต่ละคราว กฎหมายมิให้ถือว่าเป็นการจ่ายหรือรับค่าจ้างสำหรับลูกจ้างเด็กนั้น นายจ้างจึงไม่สามารถนำเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว มาหักค่าจ้างซึ่งต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเด็กตามกำหนด และห้ามนายจ้างจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างเด็กให้แก่บุคคลอื่น
-คุ้มครองเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานเด็กเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานของเด็ก ให้สิทธิแก่ลูกจ้างเด็กในการลาเพื่อเข้าประชุม สัมมนา รับการอบรม รับการฝึกหรือลาเพื่อการอื่นซึ่งจัดโดยสถานศึกษาหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเห็นชอบ โดยลูกจ้างเด็กต้องแจ้งให้ นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้งพร้อมแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องถ้ามี ซึ่งเมื่อลูกจ้างเด็กใช้สิทธิในการลาดังกล่าวแล้ว นายจ้างจะต้องอนุญาตให้ลาโดยจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างนั้นเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตามปกติด้วยตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินปีละ ๓๐ วัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น