วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

โรคเบาหวาน (2)

โรคแทรกซ้อนเฉียบพลัน ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่ขึ้นกับระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน และสามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหากไม่ได้รับการแก้ไขแต่รักษาให้หายและป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้ ภาวะแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลันแบ่งออกได้เป็น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลัน และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเฉียบพลัน

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลัน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและมีกรดคีโตนคั่ง (Diabetic ketoacidosis : DKA) เป็นภาวะฉุกเฉินที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดจากการขาดอินซูลิน โดยอาจมีปัจจัยกระตุ้นจากการได้รับอินซูลินไม่เพียงพอ หรือขาดยา บางครั้งพบเป็นอาการแรกเริ่มของการเป็นเบาหวาน และพบได้ประปรายในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่รุนแรงกว่าขั้นแรกจะมีปัจจัยกระตุ้นจากภาวะเครียดจากการเจ็บป่วย ได้แก่ มีไข้ติดเชื้อ เมื่ออินซูลินไม่พอร่างกายจึงเผาผลาญไขมันเป็นพลังงานเกิดการสร้างคีโตนซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดทำให้ร่างกายมีภาวะเป็นกรดในเลือดสูงขึ้น โดยปกติภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและมีกรดคีโตนคั่งนี้จะมีระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตรเกลือแร่ไบคาร์บอเนตต่ำกรดในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย กระหายน้ำ ปัสสาวะมาก หายในหอบลึก หากเป็นมากอาจไม่รู้ตัว หมดสติ และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

2. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากและโดยไม่มีกรีดคีโตนคั่ง(Hyperglycemic Hyperosmolar state : HHS) มักพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ร่างกายยังพอสร้างอินซูลินได้ ทำให้เกิดการสลายไขมันจนเกิดภาวะกรดในเลือดสูง แต่ก็ไม่เพียงพอในการลดระดับน้ำตาล ทำให้ปัสสาวะบ่อย ทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดสูงมากเกิน 600 มิลลิกรัม/เดซิลิตร มีอาการสับสน ซึมลง จนอาจไม่รู้สึกตัวและหมดสติได้เช่นเดียวกัน พบภาวะขาดน้ำอย่างมาก จนปากแห้ง ตาลึก ความดันอาจต่ำ ชีพจรเต้นเร็ว ควรได้รับการรักษาโดยด่วน

ปัจจัยก่อเหตุ

สาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งหรือสาเหตุร่วมกันของปัจจัยดังกล่าวต่อไปนี้ อาจนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลันได้

- คุมเบาหวานไม่ดี

- การได้รับยารักษาเบาหวานได้ขนาดที่น้อยไป ฉีดอินซูลินไม่สม่ำเสมอ หรือขาดยา

- ติดเชื้อ เป็นปัจจัยกระตุ้นที่พบได้บ่อย

- มีการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือแตก เป็นต้น

- ร่างกายไม่สามารถตอบสนองได้อย่างหมาะสมต่อยารักษาเบาหวานที่ทานเข้าไป

- ทานอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาลมากเกินไป

- มีความเครียดมาก

- ได้รับยาที่มีผลทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้น ลดการตอบสนองต่ออินซูลิน เช่า ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ

ป้องกันและแก้ไข

- รับประทานยา หรือฉีดอินซูลินตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด อย่าหยุดยาเองโดยเด็ดขาด

- ควบคุมอาหารอย่างต่อเนื่องและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

- เมื่อมีอาการเตือน เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะมากผิดปกติ ควรดื่มน้ำเปล่ามากๆ และตรวจระดับน้ำตาลด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว เพื่อปรับระดับยาฉีดอินซูลินตามระดับน้ำตาลในเลือด

- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

- ลดความเครียดลง ด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ดูละคร ฟังเพลง นั่งสมาธิ ฯลฯ

- ใส่ใจและจัดการกับอาการป่วย หรืออาการติดเชื้อทันทีที่รู้สึกว่าเป็น ห้ามซื้อยาทานเองและต้องบอกแพทย์ว่าเป็นเบาหวาน

- ถ้ามีอาการกระตุกเฉพาะที่หรืออาการซึม และมีระดับน้ำตาลในเลือดมาก ควรพบแพทย์ทันที

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(Hypoglycemia)

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ต่ำกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างการรับประทานอาหารกับระดับอินซูลิน หรือยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าระดับน้ำตาลลดต่ำมากอาจมีความรุนแรงถึงขั้นหมดสติหรือเสียชีวิตได้ เกิดได้ทั้งในผู้ป่วยเบาหวานใช้ยา ไม่ว่ายาเม็ด หรือยาฉีดอินซูลิน ทั้งใช้ยาผิด หรือขนาดยามากเกินไป หรือยาเท่าเดิมแต่อดอาหารผิดเวลาหรืออกกำลังกายมากเกินไปโดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า อาการน้ำตาลต่ำนี้อาจเป็นนานหลายวันขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้

อาการมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงหมดสติ หรือชัก ขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลที่ลดลงและอัตราความเร็วในการลดลง เริ่มต้นจะมีอาการใจสั่น ตัวเย็น หน้าซีด คล้ายจะเป็นลม ตามัว หิวมาก มือสั่น ปวดศีรษะ เหงื่อออก หงุดหงิด ปากชา สูญเสียสมาธิ สับสน ซึม ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอาจเป็นลมหมดสติหรือชักได้ ถ้าเป็นตอนกลางคืนขณะหลับอาจมีอาการฝันร้าย นอนกระสับกระส่าย ปวดศีรษะหรือมึนงงในตอนเช้า

วิธีป้องกัน

- ต้องรู้จักอาการและอาการแสดงของภาวะน้ำตาลต่ำ เพื่อระมัดระวังเตรียมตัวแก้ไข

- ทานอาหารให้เป็นเวลา ในปริมาณอาหารที่ใกล้เคียงกันทุกวัน

- ควรมีลูกอม น้ำตาลก้อน หรือน้ำผลไม้พกติดตัว

- ห้ามอดอาหาร โดยเฉพาะมื้อหลัก

- รองท้องด้วยของว่าง หรือดื่มนม ถ้าจำเป็นต้องเลื่อนเวลาอาหารออกไป

- ทานอาหารว่ารองท้องประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนออกกำลังกายที่หนักๆ หรือนานๆ

- ทานยา หรือฉีดอินซูลินตามแพทย์สั่ง ทั้งปริมาณยาและเวลา

- ปรึกษาแพทย์กรณีที่ต้องการทานยารักษาโรคอื่น ร่วมกัน

- ตรวจน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

- ควรรีบบอกแพทย์ทันที เมื่อมีภาวะน้ำตาลต่ำ เพื่อให้แพทย์ปรับขนาดอินซูลิน

- ไม่ออกกำลังกายหักโหม อดนอน หรือทำงานหนักมากกว่าปกติ

การแก้ไขเบื้องต้น

- ถ้าอาการไม่มาก และเกิดขึ้นใกล้เวลาอาหาร รีบทานอาหารทันที หรือทานของว่าง เช่นขนมปัง นม ผลไม้รสหวานก่อน

- หากอาการค่อนข้างมาก แต่ยังรู้สึกตัว ควรทานอาหารจำพวกแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรตซึ่งดูดซึมเร็วปริมาณ 15 กรัม อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น ดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ ประมาณ ½ - 1 แก้ว น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ 100 ซีซี ลูกอม 1-2 เม็ด หรือน้ำตาลประมาณ 2 ก้อน

- อาการควรจะดีขึ้นภายใน 5 – 10 นาที แล้วรีบรับประทานข้าว หรืออาหารประเภทแป้งทันที

- ถ้าหลังจากได้รับน้ำตาล 15 – 20 นาที ผ่านไปแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรตรวจน้ำตาลด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลทันที ถ้ายังต่ำควรทานของหวานซ้ำอีกครั้ง

- ไม่ควรทานของหวานมากเกินกว่าที่แนะนำ เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลสูงมากไปและทำให้คุมได้ยาก น้ำหนักตัวลงยากด้วย

- แต่ถ้าไม่รู้สึกตัว หมดสติ ผู้ใกล้ชิดควรใส่น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ ใต้ลิ้น และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ห้ามให้ลูกอม หรือดื่มน้ำหวานเพราะทำให้สำลัก

- เมื่อเกิดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำขึ้นแล้ว อย่าวางใจว่าสามารถดูแลตัวเองได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเพื่อปรับขนาดยา จะได้ป้องกันไม่ให้เกิดอาการซ้ำๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น