วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เคล็ดลับสุขภาพจากแพทย์จีน

อาจารย์ท่านแนะนำเคล็ดลับไว้ 12 ข้อดังต่อไปนี้...
1. หวีผมบ่อยๆ:
หวีผมเบาๆ บ่อยหน่อยช่วยให้ตาสว่าง และรากผมแข็งแรง (ใช้หวีซี่ห่างหน่อย
แปรงเบาหน่อย เพื่อกันผมหลุด)

2.
ถูใบหน้าบ่อยๆ:
ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ให้สะอาดก่อน หลังจากนั้นใช้ฝ่ามือ 2
ข้างถูหน้าเบาๆ บ่อยหน่อยเพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ใบหน้าเปล่งปลั่ง

3.
เคลื่อนไหวดวงตาบ่อยๆ:
ให้มองไกล-มองใกล้ มองข้างนอก-ข้างใน มองบน-มองล่าง หลีกเลี่ยงการมอง
หรือจ้องอะไรนานๆโดยเฉพาะคนที่ทำงานคอมพิวเตอร์ควรพักสายตาด้วยการมองไกลอย่างน้อยทุกชั่วโมง

4.
กระตุ้นใบหูบ่อยๆ:
การดึงหู ดีดหู บีบหู ถูใบหูเบาๆ บ่อยหน่อย ช่วยบำรุงตานเถียน(จุดฝังเข็ม)
ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เก็บพลังงานของร่างกาย(ใต้สะดือ) สัมพันธ์กับไต ซึ่งเปิดทวารที่หู ทำให้แรงดี ป้องกันเสียงดังในหู หูตึง และอาการเวียนหัว

5.
ขบฟันบ่อยๆ:
ขบฟันเบาๆ บ่อยหน่อย(ไม่ใช่ขบแรงดังกรอดๆ) ช่วยให้ฟันแข็งแรง
และกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย

6.
ใช้ลิ้นดุนเพดานปากบ่อยๆ:
การใช้ปลายลิ้นกระตุ้นเพดานบนด้านหน้าเป็นการกระตุ้นจุดฝังเข็ม
เพื่อเชื่อมพลังลมปราณตู๋และเยิ่น ซึ่งเป็นเส้นควบคุมแนวกลางลำตัวส่วนหลัง และส่วนหน้าร่างกาย ทำให้เกิดการกระตุ้นการหลั่งสารน้ำ และน้ำลาย

7.
กลืนน้ำลายบ่อยๆ:
การกลืนน้ำลายบ่อยๆ ช่วยกระตุ้นพลังบริเวณคอหอย และกระตุ้นการย่อยอาหาร

8..
หมั่นขับของเสีย:
หมั่นขับของเสีย โดยเฉพาะดื่มน้ำให้พอ กินอาหารที่มีเส้นใย ออกกำลัง
เพื่อป้องกันท้องผูก เมื่อปวดปัสสาวะหรืออุจจาระให้ถ่ายทันที อย่ารอโดยไม่จำเป็น
การทิ้งของเสียไว้ในร่างกายนานเกินทำให้เกิดสารพิษ และการดูดซึม
สารพิษ (กลับเข้าสู่ร่างกาย) มากขึ้น ทำให้ป่วยง่าย

9.
ถูหรือนวดท้องบ่อยๆ:
ให้นวดท้องตามเข็มนาฬิกาเบาๆ เพื่อช่วยให้การขับถ่ายของเสียดีขึ้น

10.
ขมิบก้นบ่อยๆ:
การขมิบก้นบ่อยๆ ช่วยป้องกันริดสีดวงทวาร และท้องผูก

11.
เคลื่อนไหวทุกข้อ:
การอยู่นิ่งๆ หรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป ทำให้เกิดโรคได้ง่าย
ควรเคลื่อนไหวข้อต่างๆ ให้ครบทุกข้อกวัน ฝึกฝนการใช้กล้ามเนื้อและข้อให้สมดุล เช่น การฝึกชี่กง ไท้เก้ก โยคะ ฯลฯ

12.
ถูผิวหนังบ่อยๆ:
ใช้ฝ่ามือถูตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย คล้ายกับการถูตัวเวลาอาบน้ำ
มีส่วนช่วยให้เลือดและพลังไหล เวียนดี

เรียนเชิญท่านผู้อ่านลองนำไปปฏิบัติดู เพื่อสุขภาพ พลัง และลมปราณที่ดีไปนานๆ
ครับ...
ท่านอาจารย์นายแพทย์ภาสกิจ(วิทวัส) วัณนาวิบูล อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแพทย์แผนจีน แนะนำเคล็ดลับการดูแลสุขภาพ ตามศาสตร์แพทย์แผนจีนว่า

อาหาร
10 อย่างที่ไม่ควรกินมากเกินนำแนวคิดศาสตร์แพทย์แผนจีนมาวิเคราะห์โดยใช้หลักแพทย์แผนปัจจุบันประกอบ...

อาหารที่ไม่ควรกินมากเกิน หรือบ่อยเกินได้แก่...

1.
ไข่เยี่ยวม้า:
ไข่เยี่ยวม้ามีตะกั่วค่อนข้างสูง ตะกั่วทำให้การดูดซึมแคลเซียมน้อยลง กินบ่อยๆ
จะเสี่ยงโรคกระดูกโปร่งบาง และอาจได้รับพิษตะกั่วเช่น สมองเสื่อม เป็นหมัน ฯลฯ
2.
ปาท่องโก๋:
กระบวนการทำปาท่องโก๋มีการใช้สารส้ม ซึ่งมีตะกั่วปนเปื้อน ตะกั่วทำให้ไตทำงานหนักในการขับสารนี้ออกไป นอกจากนั้นยังทำให้คอแห้ง เจ็บคอง่าย โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคร้อนในได้ง่าย
3.
เนื้อย่าง:
กระบวนการรมไฟ ย่างไฟทำให้เกิดสารเบนโซไพรีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
4.
ผักดอง:
ผักดอง และของหมักเกลือทำให้ร่างกายได้รับเกลือโซเดียมสูง ถ้ากินบ่อยเกิน
หรือมากเกินจะทำให้หัวใจทำงานหนัก เกิดความดันเลือดสูงและโรคหัวใจได้ง่าย
นอกจากนั้นกระบวนการหมักดองยังทำให้เกิด สารแอมโมเนียมไนไตรด์ ซึ่งเป็นสาร ก่อมะเร็ง
5.
ตับหมู:
ตับหมูมีโคเลสเตอรอลสูง การกินตับหมูบ่อยเกิน หรือมากเกินทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจ เส้นเลือดสมอง(อัมพฤกษ์-อัมพาต) และโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น
6.
ผักขม ปวยเล้ง:
ผักขมและปวยเล้งมีสารอาหารสูง ทว่า... มีกรดออกซาเลตมาก ทำให้เกิดการขับสังกะสี และแคลเซียมออกจากร่างกายมาก การกินบ่อยเกิน
หรือมากเกินอาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลเซียม หรือสังกะสีได้
7.
บะหมี่สำเร็จรูป:
บะหมี่สำเร็จรูปมีสารกัดบูด สารแต่งรสค่อนข้างสูง และมีคุณค่าทางอาหารต่ำ
การกินบะหมี่สำเร็จรูปมากเกิน หรือบ่อยเกินอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคขาดอาหาร และการสะสมสารพิษได้
8.
เมล็ดทานตะวัน:
เมล็ดทานตะวันมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ทว่า... การกินมากเกิน หรือบ่อยเกินอาจทำให้กระบวนการเคมี (metabolism) ในร่างกายผิดปกติ ทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับ ภาวะไขมันในตับสูงอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคตับ เช่น ตับแข็ง ฯลฯ เพิ่มขึ้น
9.
เต้าหู้หมัก เต้าหู้ยี้:
กระบวนการหมักเต้าหู้อาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย...
ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคนสูงอายุ หรือเด็กเล็กได้ นอกจากนี้กระบวนการผลิตยังทำให้เกิดไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย
10.
ผงชูรส:
คนเราไม่ควรกินผงชูรสเกินวันละ 6 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา...
การกินผงชูรสมากเกิน หรือบ่อยเกิน ทำให้เกิดภาวะกรดกลูตามิกในเลือดสูงอาจทำให้ปวดหัว ใจสั่น คลื่นไส้ และมีผลเสียต่ออวัยวะสืบพันธุ์

วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อยู่อย่างแข็งแรงและมีคุณภาพถึงอายุ 140 ปี มีทางไหม (3)

อยู่อย่างแข็งแรงและมีคุณภาพถึงอายุ 140 ปี มีทางไหม (3)

เพื่อให้อายุหลัง 100 ปี มีคุณภาพและแข็งแรง เราจึงควรเน้นการดูแลรักษาในเรื่องน้ำหนักตัวให้เหมาะสมตลอดชีวิต รวมทั้งการออกกำลังกายที่ถูกวิธี เพราะยังมีคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องการออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักตัว

ผมขอเริ่มจากการคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสมในแต่ละอายุ เราคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า โรคอ้วนบั่นทอนสุขภาพและสมองอย่างไร จึงขอยกข้อเสียของโรคอ้วนมากล่าวก่อนเพราะหาคนที่เป็นโรคอ้วนแล้วมีอายุเกิน 100 ปีได้ยาก เนื่องจากคนอ้วนมักจะเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ก่อนวัย 80 ปีเป็นส่วนใหญ่ ในที่นี้จะขอสรุปคร่าว ๆ ถึงปัญหาที่ตามมากับโรคอ้วน คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ โรคตับ โรคไต โรคของไขข้อต่าง ๆ และโรคสมองขาดออกซิเจนเวลานอน ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ทำให้คนที่เป็นโรคอ้วนขาดคุณภาพชีวิต และภาวะเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็กที่เป็นโรคอ้วน ดังนั้นจึงควรป้องกันตนเองและลูกหลานไม่ให้เป็นโรคอ้วนทุกช่วงเวลาของชีวิต

อาหารที่นิยมรับประทานในบ้านเรามีทั้งที่สนับสนุนให้เป็นโรคอ้วน และช่วยป้องกันหรือรักษาไม่ให้เป็นโรคอ้วน อาหารสหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวค่อนข้างจะอ้วนนั้น ควรเน้นอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบให้มาก โดยมีการใช้น้ำมันในการทำอาหารน้อย โดยเริ่มจากมื้อเช้า ควรเป็นโจ๊กที่เติมผักให้มากขึ้นหรือข้าวต้ม โดยมีกับข้าวที่ไม่ทอดน้ำมัน เช่น ปลานึ่ง ไข่เค็ม ผักกาดดอง เป็นต้น หากทุกคนฝึกรับประทานอาหารทุกเช้า ปฏิบัติเช่นนี้เพียง 10 กว่าวัน จะรู้สึกสบายตัว เดินเหินได้คล่องตัวขึ้น มื้อกลางวันให้หันมารับประทานก๋วยเตี๋ยวน้ำเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเส้นเล็ก เส้นใหญ่ เส้นหมี่ หรือบะหมี่ก็ได้ จะมีกระเทียมเจียวใส่ก็ไม่เป็นไร แล้วดื่มน้ำเย็นสักแก้ใหญ่ ในช่วงบ่าย หลังจากใช้สมองมานานอาจจะหิวบ้าง จะรับประทานผลไม้จำพวกฝรั่ง ชมพู่ หรือมะละกอให้พออิ่มท้อง ก่อนที่จะออกไปเล่นกีฬา แล้วเมื่อมาถึงมื้อเย็นก็สามารถรับประทานข้าวสวยสัก 2 ทัพพีกับกับข้าวปกติทั่วไปได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงไข่เจียวและเนื้อสัตว์ที่ชุบแป้งทอด ก่อนนอนดื่มนมขาดมันเนยที่เพิ่มแคลเซียม 1 แก้วกับผลไม้ จานเล็กอีก 1 จาน ก็จะทำให้หลับสบายไปตลอดทั้งคืน

น้ำหนักตัวในช่วงอายุ 40 – 60 ปี ของผู้ชายแต่ละคนให้ใช้ความสูงลบด้วย 100 ส่วนผู้หญิงให้ลบด้วย 105 เช่น ผู้ชายสูง 175 เซนติเมตร ก็ไม่ควรมีน้ำหนักตัวเกิน 75 กิโลกรัม ส่วนผู้หญิงถ้าสูง 165 เซนติเมตร ก็ไม่ควรมีน้ำหนักตัวเกิน 60 กิโลกรัม ช่วงอายุ 60 – 80 ปี ควรมีน้ำหนักตัวลดลงมาอีก 3 – 5 กิโลกรัม คือ ผู้ชายลบด้วย 105 ผู้หญิงลบด้วย 110 ดังนั้น ถ้าผู้ชายสูง 175 เซนติเมตร น้ำหนักตัวไม่ควรเกิน 70 กิโลกรัม ผู้หญิงที่สูง 165 เซนติเมตร น้ำหนักตัวไม่ควรเกิน 55 กิโลกรัม ในช่วงอายุ 80 – 100 ปี ผู้ชายควรลบด้วย 108 ผู้หญิงควรลบด้วย 112 ดังนั้นผู้ชายที่สูง 175 เซนติเมตร ควรมีน้ำหนักตัวไม่เกิน 67 กิโลกรัม หลังอายุ 100 ปี อาจจะมีน้ำหนักตัวลดลง 1 กิโลกรัม ทุก 5 ปีที่ผ่านไป การมีน้ำหนักตัวที่ลดลงจากอายุที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยทำให้อวัยวะภายในร่างกายทำงานได้ดีตามเวลาที่เปลี่ยนไป แต่ก็ไม่ควรให้ร่างกายผอมหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ข้างต้นมากเกินไป การควบคุมน้ำหนักตัวให้ได้ ดังนี้ ควรปฏิบัติควบคู่กับการรับประทานอาหารให้ครบถ้วนทุกหมู่ และการออกกำลังกายที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ

คราวนี้มาพูดถึงเรื่องการออกกำลังกาย ซึ่งมีความสำคัญมากทำให้อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายแข็งแรงและคงความสดชื่นตลอดเวลา หลักสำคัญในการออกกำลังกาย คือต้องมีการเคลื่อนไหวของแขนขาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยวันละ 30 – 40 นาที โดยระมัดระวังการลงน้ำหนักตัวมาที่หัวเข่าทั้งสองข้าง เพราะการกระแทกน้ำหนักตัวลงมาที่หัวเข่าข้างใดข้างหนึ่งบ่อยๆ อาจจะทำให้ข้อเข่าเสื่อมก่อนเวลาได้ การวิ่งหรือการเดินเร็ว ๆ อย่างต่อเนื่องก็เป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด โดยต้องให้ความสำคัญกับรองเท้าที่จะใช้ให้มาก เพราะรองเท้าจะต้องรับน้ำหนักตัวเพื่อไม่ให้ฝ่าเท้ากระแทกกับพื้นมากเกินไป จึงควรเป็นรองเท้าสำหรับการวิ่งโดยเฉพาะ หลังอายุ 60 – 70 ปีขึ้นไป การว่ายน้ำก็เป็นการออกกำลังกายที่ดีอีกวิธีหนึ่ง เพราะน้ำจะช่วยพยุงน้ำหนักตัว และหัวเข่าไม่ให้มาแบกภาระน้ำหนักตัวขณะออกกำลังกาย อีกทั้งน้ำยังมีส่วนช่วยระบายความร้อนที่เกิดขึ้นจากการออกกำลงกายได้ดี

ส่วนการทำโยคะไม่สามารถทดแทนการออกกำลังกายได้ แต่ช่วยเสริมการออกกำลังกาย เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและไขข้อต่าง ๆ ยืดหยุ่นได้ดี จึงนำมาเสริมกับการออกกำลังกายดังที่กล่าวมาข้างต้นได้ การอบซาวน่าหรือการแช่น้ำอุ่น ไม่มีหลักฐานว่าช่วยส่งเสริมสุขภาพใด ๆ จึงไม่แนะนำให้ทำ และไม่แนะนำให้ใส่เสื้อผ้าหนาขณะออกกำลังกาย เพื่อให้มีการเสียเหงื่อมาก เพราะการเสียเหงื่อมากเกินไป ไม่ได้เป็นผลดีต่อสุขภาพเท่ากับการเคลื่อนไหวของแขนขาเป็นเวลานาน และขอเสริมอีกเคล็ดลับหนึ่งก็คือ หลังออกกำลังกายให้รับประทานวิตามินอีวันละ 100 มิลลิกรัม ก็จะช่วยลดอาการปวดไขข้อและเส้นเอ็นได้ดี

เพื่อให้ชีวิตหลังอายุ 100 ปีมีคุณภาพที่ดีจึงควรฝึกการใช้สมองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่าคิดว่าเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว ไม่จำเป็นต้องฝึกสมองอีกต่อไปแล้ว ซึ่งสมองจะค่อย ๆ เฉื่อยชาลง เสื่อมลงเพราะไม่ได้ใช้งาน การได้อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เล่นเกมต่าง ๆ เช่น หมากฮอส หมากกระดาน หรือกีฬาที่มีการแข่งขัน คิดคำนวณ และมีการวางแผนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งควรเหมาะสมกับช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไปด้วย สิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนทำให้สมองไม่แก่เร็วเกินไป จนถึงขั้นหลง ๆ ลืม ๆ ได้

หวังว่าหลายท่านที่ได้อ่านแล้วจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ การรักษาน้ำหนักตัว และการออกกำลังกาย เพื่ออายุที่ยืนยาว แข็งแรง ซึ่งควรดูแลสุขภาพตั้งแต่อายุ 40 ปีเป็นต้นไป เพราะในแต่ละปีหลังจากอายุ 40 ปีไปแล้ว อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย จะมีการเสื่อมที่เร็วขึ้น ดังนั้นเราจึงควรปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพ การรักษาน้ำหนักตัว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการรับประทานอาหารต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น อย่างต่อเนื่อง

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อยู่อย่างแข็งแรงและมีคุณภาพถึงอายุ 140 ปี มีทางไหม (2)

อยู่อย่างแข็งแรงและมีคุณภาพถึงอายุ 140 ปี มีทางไหม (2)

การดูแลสุขภาพฟันให้แข็งแรงตลอดเวลา ขั้นตอนที่ต้องทำควบคู่กันก็คือ การดูแลหลอดเลือดในร่างกายให้ทำงานปกติ และเพื่อป้องกันสมองเสื่อมเมื่อย่างเข้าสู่วัยอายุเกิน 100 ปี จะสังเกตให้ดีว่า ผมระมัดระวังการใช้คำว่า วัยชรา ในเนื้อหาตลอด เพราะวัย 70 ปี ที่ในอดีต เรามักจะเรียกกันว่าเป็นวัยชรานั้น ผมอยากจะให้เปลี่ยนเป็นวัยกลางคน วัยชราจึงอาจจะหมายถึงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเป็นจริงในอีก 10 – 20 ปีต่อจากนี้ โดยขอให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำต่าง ๆ

การตีบตันของหลอดเลือดส่วนใหญ่เกิดจากคอเลสเตอรอล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป เช่น ไข่แดง หนังสัตว์และเครื่องในสัตว์ ดังนั้นจึงควรควบคุมการรับประทานอาหารเหล่านี้ สัปดาห์หนึ่งไม่ควรรับประทานไข่แดงเกิน 3 ฟอง ในร่างกายของเราจะมีตัวกำจัดคอเลสเตอรอลที่จะไปสะสมตามหลอดเลือด ที่เราเรียกว่า HDL-chol ถ้ามีมากก็จะช่วยปกป้องโรคหลอดเลือดตีบได้ เราสามารถเพิ่ม HDL-chol ได้โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คอเลสเตอรอลอีกส่วนหนึ่งจะถูกสร้างภายในร่างกาย จึงควรหมั่นตรวจเช็คระดับคอเลสเตอรอลด้วย เพราะถึงแม้จะควบคุมอาหารแล้วก็ตาม แต่ร่างกายอาจจะสร้างขึ้นมามากและกำจัดได้ไม่ดี จึงทำให้เกิดการสะสมขึ้นมาในร่างกายได้ การตรวจเช็คระดับคอเลสเตอรอลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการมัดระวังการตีบตันของหลอดเลือดได้

เพื่อให้วัย 70 ปี เป็นวัยกลางคน ร่างกายควรจะมีกระดูกที่แข็งแกร่งที่สุดในระยะนี้ และจะยังคงแข็งแรงต่อไปจนถึงอายุ 100 ปีขึ้นไป จากการศึกษาขณะนี้พบว่า มนุษย์จะมีมวลกระดูกมากที่สุด เมื่ออายุ 25 – 30 ปี หลังจากนั้นมวลกระดูกในร่างกายจะค่อยๆ ลดน้อยลง ถ้าไม่ระมัดระวังหรือดูแลมวลกระดูกในเรื่องนี้ให้ดี เพียงอายุ 60 ปี ก็จะมีปัญหาเรื่องกระดูกผุกร่อนได้ ทั้งบริเวณสันหลังและบริเวณท่อนขา ซึ่งจะทำให้กระดูกหักหรือกระดูกสันหลังทรุด เสื่อมตัว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดูชราก่อนวัยอันควร

การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมมาก และสม่ำเสมอจะช่วยทำให้มีมวลกระดูกที่หนาแน่นตลอดเวลา การดื่มนมวัววันละ 1 ลิตร ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียม เพื่อบำรุงกระดูกอย่างเพียงพอ แต่ขณะนี้นมวัวส่วนใหญ่ที่มีจำหน่ายได้เสริมแคลเซียมให้มากขึ้น การดื่มเพียงครึ่งลิตร หรือ 2 แก้วต่อวัน ก็จะให้แคลเซียมเพียงพอ แต่ก็ควรระมัดระวังเรื่องของไขมันในนมวัวด้วย ถ้าเป็นคนที่มีน้ำหนักตัวเริ่มจะเกินกว่ามาตรฐานก็ควรดื่มนมวัวชนิดขาดมันเนยที่มีไขมัน 0% หรือในกรณีที่มีน้ำหนักตัวค่อนข้างมากจนออกไปทางอ้วนแล้ว ก็ควรรับประทานยาเม็ดแคลเซียมเพื่อให้ได้รับแคลเซียมประมาณวันละ 1,000 มิลลิกรัม แทนการดื่มนมวัวก็น่าจะเหมาะสมกว่า การรับประทานอาหารอื่นที่ทำมาจากนมวัว เช่น ชีส ไอศกรีม หรือโยเกิร์ต ก็สามารถให้แคลเซียมมาบำรุงกระดูกได้เช่นกัน แต่ต้องระวังทั้งชีสและไอศกรีมจะให้ไขมันมาก จึงเป็นการเพิ่มน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยให้ร่างกายได้รับแสงแดดอ่อน เป็นประจำทุกวัน ก็จะช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง ส่วนการถูกแสงแดดจ้าเกินไป และนานเกินไปอาจจะทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ นอกเหนือจะทำให้เกิดฝ้าขึ้นที่ใบหน้าแล้ว การออกกำลังกายอาจจะเลือกเวลาเล่นกีฬากลางแจ้ง โดยอาจจะเป็นเวลาบ่าย 4 โมงครึ่งขึ้นไป หรือถ้าเป็นเวลาเช้า ก็ควรจะก่อน 8 โมงเช้า ก็จะเป็นเวลาที่แสงแดดไม่จ้า และไม่ร้อนเกินไป ควรทาครีมกันแดดและสวมหมวก เพื่อป้องกันผิวหน้าไม่ให้ได้รับแสงแดดมากเกินไปก็จะดี ถ้าสามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างเพียงพอ ร่วมกับการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง เมื่ออายุย่างเข้า 100 ปีได้อย่างแน่นอน

และอีกเรื่องที่อยากจะเน้นเพื่อให้มีอายุ 100 ปีขึ้นไปให้ได้ ก็คือ การป้องกันมะเร็ง ในแต่ละปี มะเร็งได้คร่าชีวิตคนวัยทำงานมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ ผู้ชายก็มีมะเร็งจำพวกหนึ่ง ในขณะที่ผู้หญิงก็มีมะเร็งอีกจำพวกหนึ่ง ดังนั้นอย่าปล่อยให้เป็นโรคมะเร็ง เพราะจนถึงปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้เลย จึงควรป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็ง หรือหาวิธีการที่ค้นหามะเร็งในระยะเริ่มต้นให้ได้ เพราะจะรักษาง่ายกว่าการปล่อยให้มะเร็งลุกลามไปแล้ว ทั้งนี้หากมารู้ว่าเป็นมะเร็งในระยะสุดท้ายแล้วเกิดเป็นรักษาและควบคุมได้ยาก

การป้องกันมะเร็งโดยทั่วไป ก็คือ อย่าให้อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งสัมผัสกับสารเคมี แสงแดด หรือสิ่งเจอปนอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป การรับประทานอาหารที่มีสารไดออกซิน ซึ่งเกิดจากการทอดน้ำมัน การสูดดมอากาศที่มีสารเคมีเจือปน การสูบบุหรี่ การที่ผิวหนังถูกแสงแดดมากเกินไป และการมีภาวะท้องผูกเรื้อรัง เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งตามอวัยวะที่ได้รับสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ จึงควรป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ จะดีกว่า

การสืบค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรก ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่แนะนำให้ทุกคนทำ สำหรับผู้ชายควรสืบค้นหามะเร็งของกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ โดยเมื่ออายุย่างเข้า 50 ปี ขึ้นไปควรได้รับการส่องกล้องทั้งกระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่ เพื่อหามะเร็งทั้งสองชนิดนี้ อีกทั้งปรึกษาแพทย์ทางโรคระบบทางเดินปัสสาวะ เมื่ออายุมากกว่า 60 ปี เพื่อหมั่นค้นหามะเร็งต่อมลูกหมาก สำหรับผู้หญิง การตรวจภายในตั้งแต่อายุ 25 ปี ขึ้นไปเป็นระยะ ๆ เพื่อหามะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ระยะเริ่มแรก็เป็นเรื่องที่ดี และควรได้รับการตรวจรังสีที่บริเวณเต้านม (Mammography) ก่อนวัย 40 ปี และตรวจเป็นระยะๆ เพื่อสืบค้นหามะเร็งเต้านมให้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

สำหรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคมะเร็งที่เพิ่งมีจำหน่ายก็คือ วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งควรฉีดให้เด็กหญิงก่อนวัยรุ่นและก่อนมีเพศสัมพันธ์ ก็พอจะช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ได้ ส่วนทารกทุกคนขณะนี้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบจากไวรัสบี จะช่วยไม่ให้เป็นมะเร็งตับอันเนื่องมาจากการเป็นตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสชนิดนี้

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อยู่อย่างแข็งแรงและมีคุณภาพถึงอายุ 140 ปี มีทางไหม (1)

อยู่อย่างแข็งแรงและมีคุณภาพถึงอายุ 140 ปี มีทางไหม (1)

ทุกวันนี้ เราเริ่มเห็นคนอายุมากกว่า 100 ปีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น วงการแพทย์สนใจเรื่องการยืดอายุของมนุษย์มาก มีงานวิจัยออกมามากมายถึงวิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ ที่มีส่วนที่ทำให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันมีอายุยืดยาวมากขึ้น

เพื่อให้บรรลุถึงจุดประสงค์ที่จะให้มีอายุยืนถึง 140 ปีอย่างแข็งแรงและมีคุณภาพ จึงควรทำให้สุขภาพของคนวัย 70 ปี เท่ากับวัยกลางคน หรือทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงเท่ากับคนอายุ 40 ปี ในปัจจุบัน

ขอเริ่มจากการดูแลสุขภาพฟันเป็นอันดับแรก ที่ต้องพูดถึงการดูแลฟันก่อน ก็เพราะฟันเป็นด่านหน้าในการเคี้ยวอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ถ้าสุขภาพฟันไม่ดี ก็จะทำให้ไม่อยากจะรับประทานอาหารบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ และ ผัก ซึ่งทำให้ขาดความสมดุลในอาหาร ทันตแพทย์มักจะเตือนว่าอย่าลืมบ้วนปากทุกครั้งที่รับประทานอาหารหรือขนม และแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือเช้าและก่อนนอน อีกทั้งให้ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน เท่านี้ยังไม่เพียงพอ เพราะทุกครั้งที่รับประทานอาหารหรือขนม มักมีเศษอาหารติดอยู่ทั้งตัวฟันและระหว่างฟัน การแปรงฟันอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ โดยเฉพาะบางคนที่มีฟันบางซี่เริ่มทิ้งตัวออกห่างจากซี่อื่น ทำให้เกิดช่องว่างเล็ก ๆ ระหว่างฟันทำให้เศษอาหารลงไปได้ ซึ่งการแปรงฟันไม่สามารถเอาเศษอาหารออกมาได้ การใช้ไหมขัดฟันในร่องระหว่างฟันนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ จึงควรใช้ไหมขัดฟันเอาเศษอาหารออก แล้วจึงแปรงฟัน และปิดท้ายด้วยการใช้น้ำยาบ้วนปากทุกครั้งที่แปรงฟันเสร็จ โดยสรุปใน 1 วัน ควรแปรงฟันวันละ 5 ครั้ง คือ เช้า ก่อนนอน และ 3 ครั้งหลังอาหาร และอีก 1 ครั้งก่อนนอน การดูแลฟันเช่นนี้ควรหมั่นทำตั้งแต่เริ่มเป็นวัยรุ่นและทำไปตลอดชีวิต เหตุผลที่ต้องพูดถึงเรื่องฟัน เพราะการมีสุขภาพฟันที่สมบูรณ์ จะช่วยให้เคี้ยวอาหารที่จำเป็นและหลากหลายชนิด และจะทำให้ไม่ขาดสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง

นอกจากการป้องกันมิให้ฟันผุตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังเกิดฟันผุขึ้นได้ ทันตแพทย์ก็จะรักษาฟันซี่ที่ผุไว้ โดยการรักษารากฟัน อุดฟันและครอบฟันซี่นั้นเพื่อให้อยู่ตำแหน่งเดิม ไม่จำเป็นก็อย่าถอนฟันซี่ใดซี่หนึ่งออก เพราะเมื่อซี่หนึ่งถูกถอนก็จะเกิดการโอนเอน และห่างกันของฟันซี่อื่น ๆ ทำให้เศษอาหารติดฟันได้ง่าย และทำให้เคี้ยวอาหารไม่สะดวก จนส่งผลทำให้ไม่อยากจะรับประทานอาหาร และในระยะยาวทำให้ขาดสารอาหารได้

ลำดับต่อมา คือ การหมั่นดูแลและป้องกันหลอดเลือดตามร่างกายไม่ให้ตีบตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่จะไปเลี้ยงหัวใจ การดูแลหลอดเลือดตามร่างกายไม่ให้ตีบตันก่อนวัยอันควรมีความสำคัญมาก โดยเริ่มจากอาหารควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง หนังสัตว์ และเครื่องในสัตว์ ไม่ควรรับประทานบ่อย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากกว่าปกติ โดยคิดง่าย ๆ ดังนี้ ให้ใช้ความสูงของตนเองลบด้วย 100 นั่นคือ น้ำหนักตัวที่หนักได้สูงสุด เช่น สูง 170 เซนติเมตร ก็ควรมีน้ำหนักตัวมากสุดที่ 70 กิโลกรัม เมื่อควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนักตัว และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ควรตรวจเช็คเลือดเพื่อไม่ให้คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และน้ำตาลในเลือดไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร การรับประทานผักและผลไม้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีส่วนช่วยบำรุงสุขภาพอีกทางหนึ่ง

เมื่อระวังผลเลือดไม่ให้ผิดปกติ โอกาสที่เส้นเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงที่หัวใจจะตีบตันก็น้อยลง จึงช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ และทำให้เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองได้ดี จึงช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมได้ด้วย ในขั้นต่อไปควรหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตและชีพจร ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยตรวจเช็คทุก 3 เดือน เพราะอาจจะผิดปกติขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ ความดันโลหิตที่ปกติไม่ควรเกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท ควรให้ทั้งสองค่าต่ำกว่านี้ทุกครั้งที่ตรวจวัด และชีพจรในขณะพักผ่อนไม่ควรเกิน 72 ครั้งต่อนาที การที่ค่าความดันโลหิตและชีพจรอยู่ในระดับปกติจะช่วยให้หัวใจทำงานไม่หักโหมเกินไป ทั้งนี้เพราะหัวใจจะต้องแบกภาระการสูบฉีดเลือดเพื่อเลี้ยงร่างกายไปอีก 100 กว่าปี จึงไม่ควรให้หักโหมตั้งแต่อายุเพียง 40 ปี

การจะมีอายุยืนถึง 100 กว่าปีขึ้นไป ก็ควรจะมีสมองที่ยังมีความจำเป็นปกติเช่นเดิม จึงควรป้องกันสมองไม่ให้หลง ๆ ลืม ๆ ที่พบเห็นในปัจจุบันมีจำนวนมาก โรคทางสมอง 2 โรคที่พบบ่อย คือ โรคอัลไซเมอร์ (ความจำเลอะเลือน) และโรคพาร์กินสัน (โรคมือขาสั่นเวลาเคลื่อนไหว) ซึ่งในปัจจุบันพบว่า มีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ โรคหลอดเลือกในสมองตีบ การรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์มากเกินไป และอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระน้อยเกินไป ซึ่งจาก 3 สาเหตุนี้ เป็นตัวเร่งทำให้เกิดโรคทั้งสองนี้ ดังนั้นจึงควรป้องกันตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยการควบคุมไขมันในร่างกายไม่ให้สูงเกินไป ดังที่กล่าวมาแล้ว ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และมีการรับประทานอาหารที่มีสารอนุมูลอิสระให้ครบถ้วน คือ วิตามินเอ ซี อี และธาตุเซเลเนียม ซึ่งวิตามินเอ มีมากในผักชนิดต่าง ๆ รวมทั้งผักชนิดหัวที่มีสี เช่น ฟักทองและแครอท ส่วนวิตามินซีมีมากในผักใบเขียวและผลไม้ต่าง ๆ ธาตุเซเลเนียมมีมากในเนื้อสัตว์และตับสำหรับวิตามินอี ควรต้องรับประทานเสริมตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ประมาณวันละ 100 มิลลิกรัมก็ได้ เมื่อรับประทานได้ดังนี้ ก็จะช่วยทำให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเพียงพอตลอดเวลา

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กฏหมายแรงงาน

๑. ความสมบูรณ์ของการทำสัญญาจ้างแรงงาน - นายจ้างและลูกจ้างมีสิทธิที่จะแสดงเจตนาทำสัญญาจ้างแรงงานกัน โดยทำเป็นหนังสือหรือโดยปากเปล่าก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งถ้ามีการแสดงเจตนาขัดต่อกฎหมายดังกล่าวย่อมทำให้ตกเป็นโมฆะได้

๒. การคุ้มครองกำหนดเวลาในการทำงาน ให้นายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติของลูกจ้างไว้ดังต่อไปนี้

(๑) งานทั่วไป วันละ ๘ ชั่วโมง และเมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน สัปดาห์ละ ๔๘ ชั่วโมง

(๒) งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนด เช่น งานที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ งานผลิตสารเคมี อันตราย เป็นต้น ไม่เกินวันละ ๗ ชั่วโมง และเมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน สัปดาห์ละ ๔๒ ชั่วโมง

๓. สิทธิของลูกจ้างในการพักผ่อนระหว่างทำงาน

- ในวันที่ทำงาน นายจ้างต้องกำหนดให้ลูกจ้างมีเวลาพักอย่าง น้อย ๑ ชั่วโมงต่อวัน ภายหลังที่ได้ให้ทำงานไปแล้วไม่เกิน ๕ ชั่วโมง แต่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักน้อยกว่าครั้งละ ๑ ชั่วโมงก็ได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่าวันละ ๑ ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นงานที่ลูกจ้างทำในหน้าที่ที่มีลักษณะต้องทำติดต่อกันไปโดยได้รับ ความยินยอมจากลูกจ้างแล้ว หรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจไม่จัดให้ลูกจ้างมีเวลาพัก หรือมีเวลาพักน้อยกว่าที่กำหนดก็ได้

- กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักไม่น้อยกว่า ๒๐ นาทีก่อนที่ลูกจ้างจะทำงานล่วงเวลา อย่างไรก็ตามเวลาพักไม่นับเป็นเวลาทำงาน เว้นแต่เวลาพักที่เกินวันละ ๒ ชั่วโมงต้องนับเวลาที่เกิน ๒ ชั่วโมงนั้น เป็นเวลาทำงานปกติ

๔. สิทธิของลูกจ้างในการมีวันหยุด

(๑) ประเภทของวันหยุด

- วันหยุดประจำสัปดาห์ ลูกจ้างมีสิทธิหยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน ๖ วัน นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้ากำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้ หรืออาจจะตกลงล่วงหน้าให้มีการสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ไปเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาไม่เกิน ๔ สัปดาห์ติดต่อกัน ถ้าเป็น งานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า หรืองานที่ทุรกันดาร

-วันหยุดตามประเพณี ปีหนึ่งนายจ้างต้องกำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบ ธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น และประกาศกำหนดวันหยุดให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ปีละ ๑๓ วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย และถ้าวันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ก็ให้เลื่อนวันหยุดตามประเพณีวันนั้นไปหยุดในวันทำงานถัดไป

- วันหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ ๑ ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้อย่างน้อยปีละ ๖ วันทำงาน โดย นายจ้างกำหนดล่วงหน้าให้หรือกำหนดให้ตามที่ตกลงกับลูกจ้าง ซึ่งในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดให้มากกว่า ๖ วันทำงานก็ได้ หรือถ้าลูกจ้าง ทำงานยังไม่ครบ ๑ ปี นายจ้างก็อาจกำหนดให้โดยคำนวณตามส่วนก็ได้ นอกจากนั้น นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในปีอื่นก็ได้ ซึ่งถ้าลูกจ้างมีสิทธิหยุดแล้วยังไม่ได้ใช้สิทธิและถูกเลิกจ้างเสียก่อนโดยไม่ได้กระทำความผิดอันทำให้หมดสิทธิได้รับค่าชดเชย นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิ รวมทั้งวันหยุดพักผ่อนประจำปี สะสมด้วย

(๒) สิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุด

ถ้าจะให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดตามข้อหนึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า ๒ เท่าของค่าจ้างในวันทำงาน สำหรับ ลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด เช่น ลูกจ้างรายวัน เป็นต้น แต่ถ้าเป็นลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดอยู่แล้ว เช่น ลูกจ้างรายเดือน เป็นต้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดในอัตราเพิ่มขึ้นอีก ไม่น้อยกว่า ๑ เท่าของค่าจ้างในวันทำงาน

สิทธิของลูกจ้างในเรื่องเวลาพักผ่อนและวันหยุดต่างๆ ข้างต้นนี้ ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน เช่น คนรับใช้ เป็นต้น จะ ไม่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองให้มีวันหยุดต่างๆ เว้นแต่สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งคงมีสิทธิเพียงอย่างเดียว

๕. สิทธิลาของลูกจ้าง

- ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยมีสิทธิได้ค่าจ้างเท่ากับ ค่าจ้างในวันทำงานตลอดเวลาที่ลาป่วย แต่ไม่เกินปีละ ๓๐ วัน โดยวันลาป่วยดังกล่าวไม่นับรวมวันที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้เพราะประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานและวันลาเพื่อคลอดบุตร

- ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อรับราชการทหารโดยได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินปีละ ๖๐ วัน ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาคลอด ครรภ์หนึ่งไม่เกิน ๙๐ วัน โดยได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน ๔๕ วัน (วันลาดังกล่าวนับรวมวันหยุดด้วย)

- ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อทำหมันและเนื่องจากการทำหมันตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด และออกใบรับรองโดยได้รับค่าจ้างสำหรับวันลา ดังกล่าวด้วย

- ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

- ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยไม่ได้รับค่าจ้าง แต่ถ้าเป็นลูกจ้างเด็ก มีสิทธิลาเพื่อเข้าประชุม สัมมนา รับการฝึกอบรมหรือลาเพื่อการอื่น ซึ่งจัดโดยสถานศึกษาหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเห็นชอบเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานโดยได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกินปีละ ๓๐ วัน

- ลูกจ้างที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อไปดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานในฐานะผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาไกล่เกลี่ย และชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานและมีสิทธิลาเพื่อไปประชุมตามที่ราชการกำหนด แต่ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าพร้อมแสดงหลักฐานด้วย และให้ถือว่าวันลาของลูกจ้างนี้เป็นวันทำงาน

๖. สิทธิขอเปลี่ยนงานชั่วคราวของหญิงมีครรภ์

- หญิงมีครรภ์ซึ่งไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมได้มีสิทธิขอเปลี่ยนงานชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดโดยแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง ประกอบด้วย นอกจากนั้นหญิงมีครรภ์ยังได้รับความคุ้มครองที่จะไม่ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ด้วย

๗. การคุ้มครองแรงงาน

(๑) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ*

เมื่อประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีผลใช้บังคับแล้ว นายจ้างจะต้องปิดประกาศดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยเพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบ ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับ และนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ในขณะนี้มี ๓ อัตราคือ

๑.๑ วันละ ๑๖๒ บาท ในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัด สมุทรสาคร จังหวัดนครปฐมและจังหวัดภูเก็ต

๑.๒ วันละ ๑๔๐ บาท ในท้องที่จังหวัดชลบุรี จังหวัด สระบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดระนอง และจังหวัดพังงา ๑.๓ วันละ ๑๓๐ บาท ใน ๖๓ จังหวัดที่เหลือ

(๒) ค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด

- ถ้านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานเกินหรือเกินเวลาทำงานปกติให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า ๑ เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติสำหรับเวลาที่ทำเกิน

- ถ้านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็นอัตรา ๓ เท่าของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับจำนวนชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ

ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับค่าจ้าง คือ

๒.๑ลูกจ้างที่นายจ้างให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่อื่นไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดในระหว่างเดินทาง เว้นแต่จะมีข้อตกลงให้นายจ้างจ่ายให้

๒.๒ ลูกจ้างที่ทำงานบางลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ การลดค่าจ้างหรือการเลิกจ้าง

(ข) งานขบวนการจัดงานรถไฟ ซึ่งได้แก่งานที่ทำบนขบวนรถและงานอำนวยความสะดวกแก่การเดินรถ

(ค) งานปิดเปิดประตูน้ำหรือประตูระบายน้ำ

(ง) งานอ่านระดับน้ำและวัดปริมาณน้ำ

(จ) งานดับเพลิงหรือป้องกันอันตรายสาธารณะ

(ฉ) งานที่มีลักษณะหรือสภาพที่ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้

(๓) ค่าทำงานในวันหยุด ถ้านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดซึ่ง

-กรณีลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า ๑ เท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมง ที่ทำงานในวันหยุด 

-กรณีลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า ๒ เท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด

(๔) ห้ามหักค่าจ้าง นายจ้างจะหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าทำงานในวันหยุดไม่ได้ เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ

(ก) ชำระภาษีเงินได้หรือเงินอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

(ข) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพ แรงงาน

(ค) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันหรือหนี้เพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยลูกจ้างยินยอมล่วงหน้า

(ง) เป็นเงินประกันการทำงานหรือประกันความเสียหายจากการทำงาน หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยลูกจ้างยินยอม

(จ) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม การหักตาม (ข) (ค) (ง) และ (จ) แต่ละกรณีจะหักเกินร้อยละ ๑๐ ไม่ได้และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่าย เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

๘. สิทธิได้รับเงินทดแทน

เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายเพราะเหตุที่ทำงานให้นายจ้างหรือขณะทำงาน ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามประเภทดังต่อไปนี้

(๑) ค่ารักษาพยาบาล ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล ที่จำเป็นต้องจ่าย แต่ไม่เกิน ๓๕,๐๐๐ บาท และถ้าบาดเจ็บรุนแรงอาจได้เพิ่มอีกไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท

(๒) ค่าทดแทน เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนดังต่อไปนี้

๒.๑ ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ ลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกิน ๓ วัน ไม่ว่าลูกจ้างนั้นจะเสียอวัยวะตาม ๒.๒ ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายนับแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดเวลาที่ไม่สามารถทำงานติดต่อกัน แต่ต้องไม่เกิน ๑ ปี

๒.๒ ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกาย โดยจ่ายตามประเภทของการสูญเสียอวัยวะ และตามระยะเวลาที่จะต้องจ่ายให้ตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกำหนด แต่ต้องไม่เกิน ๑๐ ปี เช่น แขนขาดข้างหนึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าทดแทนมีกำหนด ๔ ปี ๖ เดือน

๒.๓ ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้าง ต้องทุพพลภาพ โดยจ่ายตามประเภทของการทุพพลภาพและตามระยะเวลา ที่ต้องจ่ายตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกำหนด แต่ต้องไม่เกิน ๑๕ ปี

๒.๔ ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ ลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือสูญหายมีกำหนด ๘ ปี ค่าทดแทนไม่ว่ากรณีใดต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือน ต่ำสุดคือ ๒,๐๐๐ บาท และไม่มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดคือ ๙,๐๐๐ บาท

(๓) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้นายจ้างจ่ายตามความจำเป็น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนี้ ก. ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้วยการแพทย์ และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ข. ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท

(๔) ค่าทำศพ ให้นายจ้างจ่ายค่าทำศพในอัตราเท่ากับ ๑๐๐ เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

-การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยซึ่งเป็นเหตุให้สูญเสียสมรรถภาพ ในการทำงานของอวัยวะไปบางส่วนให้ถือว่าลูกจ้างสูญเสียอวัยวะนั้นด้วย

ลูกจ้างจะไม่ได้เงินทดแทนในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดอื่นจนไม่สามารถครองสติได้ หมายถึงดื่มสุราหรือสิ่งเสพติดอื่นจนขาดสติ ขาดความยั้งคิดซึ่งเคยมีอยู่ก่อน

(๒) จงใจให้ตนเองประสบอันตราย หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนประสบอันตราย เช่น ไม่อยากถูกเกณฑ์ทหารจึงเอามือแหย่เข้าไปในเครื่องจักรจนถูกตัดขาด เป็นต้น

บุคคลที่มีหน้าที่จ่ายเงินทดแทน

(๑)นายจ้าง ต้องจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างตามประเภทของอันตรายจากการทำงานให้แก่ลูกจ้าง โดยลูกจ้างต้องยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคมแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ ภายใน ๑๘๐ วันนับแต่วันที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย แต่ถ้าการเจ็บป่วยเกิดขึ้นภายหลังการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างต้องยื่นคำร้องภายใน ๒ ปีนับแต่วันทราบการเจ็บป่วย

(๒) กองทุนเงินทดแทน

ถ้านายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน และเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน กองทุนเงินทดแทนก็จะจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง

๙. สิทธิของนายจ้างในการเลิกจ้าง

- นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างด้วยเหตุดังต่อไปนี้

(๑) กรณีสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนดเวลาแน่นอน เช่น ตกลง กัน ๓ ปี เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างแรงงานก็สิ้นสุดลง นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ เว้นแต่ว่าเมื่อถึงกำหนดลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีก และนายจ้างรู้ก็ไม่ว่าอะไร กรณีดังกล่าวต้องถือว่าทั้งคู่ได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยมีข้อตกลงเหมือนเดิม

(๒) กรณีลูกจ้างทำความผิดดังต่อไปนี้ นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

- จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งนั้นเป็นอาจิณ

- ละทิ้งหน้าที่

- กระทำความผิดอย่างร้ายแรง

- ทุจริตต่อหน้าที่

(๓) การเลิกจ้างในกรณีเป็นความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งกระทำผิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

- การทำงานของลูกจ้างตกเป็นพ้นวิสัย

-ลูกจ้างไร้ฝีมือ

-นายจ้างโอนสิทธิหรือลูกจ้างโอนหน้าที่ให้บุคคลภายนอก โดยคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม

(๔) สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ การเลิกจ้างต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า ถ้าสัญญาจ้างแรงงานมิได้กำหนดกันไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าไร นายจ้างจะเลิกจ้างด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้าง หรือค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญา เมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ หรือหมายถึงบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งช่วง การจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้าง แต่ไม่จำเป็นที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินกว่า ๓ เดือน หรือถ้านายจ้างจะเลิกจ้างทันทีก็ได้ โดยจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่จะต้องบอก กล่าวนั้น

(๕) กรณีนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันเลิกสัญญากันเมื่อใดก็ได้

๑๐. สิทธิของลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง

-ในกรณีที่ลูกจ้างกระทำผิดดังต่อไปนี้เมื่อถูกเลิกจ้างลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยคือ

(๑) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(๒) จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย เช่น นัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น

(๓) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง อันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว โดยหนังสือเตือนมีผลใช้บังคับไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด เว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน

(๕) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๖) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หากลูกจ้างได้กระทำผิดตามข้อ (๑)-(๖) ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่หากไม่เข้ากรณีตามข้อ (๑)-(๖) แม้จะเป็นความผิดของลูกจ้างก็ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอยู่ 

-กรณีลูกจ้างไม่มีความผิด ลูกจ้างมีสิทธิ

(๑) เรียกค่าเสียหาย แม้สัญญาจ้างแรงงานยังไม่สิ้นสุดลงโดยมี การรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิม ลูกจ้างก็ยังอาจมีสิทธิเรียกจาก นายจ้างได้ ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ลูกจ้างจากการถูกเลิกจ้าง

(๒) เรียกค่าจ้างหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เฉพาะกรณีสัญญาจ้างแรงงานมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดลงไว้ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ถ้าต้องการให้ลูกจ้างออกจากงานทันที โดยนายจ้างมีเหตุผลอันสมควรในการเลิกจ้าง

(๓) เรียกค่าชดเชย อัตราค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้างนั้นถือหลักว่า ลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างเป็นเวลานานควรจะได้รับค่าชดเชยมากกว่าลูกจ้างที่มีอายุงานน้อย โดยลูกจ้างที่จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างจะต้องมีอายุการทำงานครบ ๑๒๐ วัน ซึ่งอายุการทำงานของลูกจ้างต้องนับวันหยุดวันลา วันที่นายจ้างอนุญาตให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง และวันที่นายจ้างสั่งให้หยุดเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง โดยมีอัตราในการจ่าย ดังนี้

๓.๑ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๑๒๐ วัน แต่ไม่ครบ ๑ ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๓๐ วัน

๓.๒ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๑ ปี แต่ไม่ครบ ๓ ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๙๐ วัน

๓.๓ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๓ ปี แต่ยังไม่ครบ ๖ ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๑๘๐ วัน

๓.๔ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๖ ปี แต่ยังไม่ครบ ๑๐ ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๒๔๐ วัน

๓.๕ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๑๐ ปีขึ้นไป มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๓๐๐ วัน

-ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิจะได้ค่าชดเชยคือลูกจ้างที่นายจ้างจ้าง โดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลา ของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน ๒ ปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

(๔) สิทธิที่จะกลับเข้าทำงานตามเดิม โดยได้รับค่าจ้างเท่าเดิม กรณีเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

๑๑. การคุ้มครองการใช้แรงงานหญิง

-นายจ้างจะให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ไม่ได?

(๑) งานเหมืองแร่หรืองานก่อสร้างที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ หรือปล่องในภูเขา เว้นแต่ลักษณะของงานไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายของหญิงนั้น

(๒) งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดิน ตั้งแต่ ๑๐ เมตร ขึ้นไป

(๓) งานผลิตหรือขนส่งวัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ

(๔) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

-นายจ้างอาจให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงทำงานในระหว่างเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา ถึง ๖.๐๐ นาฬิกาได้ แต่ถ้าพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่างานนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของหญิงนั้น และรายงานต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อพิจารณา แล้วอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีคำสั่งให้นายจ้าง เปลี่ยนเวลาทำงานหรือลดชั่วโมงทำงานตามที่เห็นสมควร นายจ้างต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว

- กรณีนายจ้างจ้างหญิงมีครรภ์

ก) ห้ามนายจ้างให้หญิงนั้นทำงานในระหว่างเวลา ๒๒.๐๐ น. ถึง ๑๖.๐๐ น. ทำงานล่วงเวลาเพื่อทำงานในวันหยุด

ข) ห้ามนายจ้างให้หญิงนั้นทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน

(ข) งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ

(ค) งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน ๑๕ กิโลกรัม

(ง) งานที่ทำในเรือ

(จ) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ค) ห้ามนายจ้างเลิกจ้างหญิงเพราะเหตุมีครรภ์

ง) หญิงมีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน ๙๐ วัน โดยได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน ๔๕ วัน ซึ่งวันลาดังกล่าว นับรวมวันหยุดในระหว่างวันลาด้วย

จ) หญิงมีสิทธิขอเปลี่ยนงานชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดโดยนำใบรับรองแพทย์มาแสดงว่าไม่สามารถทำงานในหน้าที่เดิมได้ ซึ่งนายจ้างต้องพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้แก่หญิงนั้น

๑๒. การคุ้มครองการใช้แรงงานเด็ก

- นายจ้างไม่อาจรับเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี เข้าทำงานโดย เด็ดขาด

-ในการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังนี้

(๑) แจ้งการจ้างเด็กต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เด็กเข้าทำงาน

(๒) จัดทำบันทึกสภาพการจ้างกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจได้ในเวลาทำการ

(๓) แจ้งการสิ้นสุดการจ้างเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน ๗ วันนับแต่วันที่เด็กออกจากงาน

- นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างเด็กมีเวลาพักวันละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมงติดต่อกัน หลังจากที่เด็กทำงานมาแล้วไม่เกิน ๔ ชั่วโมง แต่ใน ๔ ชั่วโมงนั้นให้ลูกจ้างเด็กได้มีเวลาพักตามที่นายจ้างกำหนด

- ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด

- ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในระหว่างเวลา ๒๒.๐๐ ถึง ๐๖.๐๐ น. เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย แต่ถ้าเป็นงานแสดง ภาพยนตร์ ละคร หรือการแสดงอย่างอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน นายจ้างอาจให้ลูกจ้างเด็กทำงานในระหว่างเวลาดังกล่าวได้ โดยต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักผ่อนตามสมควร

- นายจ้างจะให้ลูกจ้างเด็กอายุตั้งแต่ ๑๕ ปี แต่ยังไม่ถึง ๑๘ ปีบริบูรณ์ ทำงานในลักษณะต่อไปนี้ไม่ได้

(๑) งานหลอม เป่า หล่อ หรือรีดโลหะ

(๒) งานปั๊มโลหะ

(๓) งานเกี่ยวกับความร้อน เย็น สั่นสะเทือน เสียงและแสงที่มีระดับแตกต่างจากปกติอันอาจเป็นอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๔) งานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๕) งานเกี่ยวกับจุลชีวันที่เป็นพิษ ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อไวรัส แบค- ทีเรีย รา หรือเชื้ออื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๖) งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ วัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ เว้นแต่งานในสถานที่บริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๗) งานขับหรือบังคับรถยกหรือปั้นจั่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๘) งานใช้เลื่อยเดินด้วยพลังไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์

(๙) งานที่ทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ อุโมงค์หรือปล่องในภูเขา

(๑๐) งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๑๑) งานทำความสะอาดเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ขณะที่เครื่องจักรหรือเครื่องยนต์กำลังทำงาน

(๑๒) งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดินตั้งแต่ ๑๐ เมตรขึ้นไป

(๑๓) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

-นายจ้างจะให้ลูกจ้างอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง ๑๘ ปีบริบูรณ์ ทำงานในสถานที่ดังต่อไปนี้ไม่ได้

(๑) โรงฆ่าสัตว์

(๒) สถานที่เล่นการพนัน

(๓) สถานที่เต้นรำ รำวงหรือรองเง็ง

(๔) สถานที่มีอาหาร สุรา น้ำชาหรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการโดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้าหรือโดยมีที่สำหรับพักผ่อนหลับนอน หรือมีบริการนวดให้ลูกค้า

(๕) สถานที่อื่น ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

- การคุ้มครองเกี่ยวกับค่าจ้าง กรณีที่นายจ้างลูกจ้าง บิดามารดา หรือผู้ปกครองของลูกจ้างเด็กจ่ายหรือรับเงินหรือประโยชน์ตอบแทนใดๆ เป็นการล่วงหน้าก่อนมีการจ้างหรือขณะแรกจ้าง หรือก่อนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเด็กในแต่ละคราว กฎหมายมิให้ถือว่าเป็นการจ่ายหรือรับค่าจ้างสำหรับลูกจ้างเด็กนั้น นายจ้างจึงไม่สามารถนำเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว มาหักค่าจ้างซึ่งต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเด็กตามกำหนด และห้ามนายจ้างจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างเด็กให้แก่บุคคลอื่น

-คุ้มครองเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานเด็กเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานของเด็ก ให้สิทธิแก่ลูกจ้างเด็กในการลาเพื่อเข้าประชุม สัมมนา รับการอบรม รับการฝึกหรือลาเพื่อการอื่นซึ่งจัดโดยสถานศึกษาหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเห็นชอบ โดยลูกจ้างเด็กต้องแจ้งให้ นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้งพร้อมแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องถ้ามี ซึ่งเมื่อลูกจ้างเด็กใช้สิทธิในการลาดังกล่าวแล้ว นายจ้างจะต้องอนุญาตให้ลาโดยจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างนั้นเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตามปกติด้วยตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินปีละ ๓๐ วัน