วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อยู่อย่างแข็งแรงและมีคุณภาพถึงอายุ 140 ปี มีทางไหม (1)

อยู่อย่างแข็งแรงและมีคุณภาพถึงอายุ 140 ปี มีทางไหม (1)

ทุกวันนี้ เราเริ่มเห็นคนอายุมากกว่า 100 ปีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น วงการแพทย์สนใจเรื่องการยืดอายุของมนุษย์มาก มีงานวิจัยออกมามากมายถึงวิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ ที่มีส่วนที่ทำให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันมีอายุยืดยาวมากขึ้น

เพื่อให้บรรลุถึงจุดประสงค์ที่จะให้มีอายุยืนถึง 140 ปีอย่างแข็งแรงและมีคุณภาพ จึงควรทำให้สุขภาพของคนวัย 70 ปี เท่ากับวัยกลางคน หรือทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงเท่ากับคนอายุ 40 ปี ในปัจจุบัน

ขอเริ่มจากการดูแลสุขภาพฟันเป็นอันดับแรก ที่ต้องพูดถึงการดูแลฟันก่อน ก็เพราะฟันเป็นด่านหน้าในการเคี้ยวอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ถ้าสุขภาพฟันไม่ดี ก็จะทำให้ไม่อยากจะรับประทานอาหารบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ และ ผัก ซึ่งทำให้ขาดความสมดุลในอาหาร ทันตแพทย์มักจะเตือนว่าอย่าลืมบ้วนปากทุกครั้งที่รับประทานอาหารหรือขนม และแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือเช้าและก่อนนอน อีกทั้งให้ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน เท่านี้ยังไม่เพียงพอ เพราะทุกครั้งที่รับประทานอาหารหรือขนม มักมีเศษอาหารติดอยู่ทั้งตัวฟันและระหว่างฟัน การแปรงฟันอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ โดยเฉพาะบางคนที่มีฟันบางซี่เริ่มทิ้งตัวออกห่างจากซี่อื่น ทำให้เกิดช่องว่างเล็ก ๆ ระหว่างฟันทำให้เศษอาหารลงไปได้ ซึ่งการแปรงฟันไม่สามารถเอาเศษอาหารออกมาได้ การใช้ไหมขัดฟันในร่องระหว่างฟันนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ จึงควรใช้ไหมขัดฟันเอาเศษอาหารออก แล้วจึงแปรงฟัน และปิดท้ายด้วยการใช้น้ำยาบ้วนปากทุกครั้งที่แปรงฟันเสร็จ โดยสรุปใน 1 วัน ควรแปรงฟันวันละ 5 ครั้ง คือ เช้า ก่อนนอน และ 3 ครั้งหลังอาหาร และอีก 1 ครั้งก่อนนอน การดูแลฟันเช่นนี้ควรหมั่นทำตั้งแต่เริ่มเป็นวัยรุ่นและทำไปตลอดชีวิต เหตุผลที่ต้องพูดถึงเรื่องฟัน เพราะการมีสุขภาพฟันที่สมบูรณ์ จะช่วยให้เคี้ยวอาหารที่จำเป็นและหลากหลายชนิด และจะทำให้ไม่ขาดสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง

นอกจากการป้องกันมิให้ฟันผุตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังเกิดฟันผุขึ้นได้ ทันตแพทย์ก็จะรักษาฟันซี่ที่ผุไว้ โดยการรักษารากฟัน อุดฟันและครอบฟันซี่นั้นเพื่อให้อยู่ตำแหน่งเดิม ไม่จำเป็นก็อย่าถอนฟันซี่ใดซี่หนึ่งออก เพราะเมื่อซี่หนึ่งถูกถอนก็จะเกิดการโอนเอน และห่างกันของฟันซี่อื่น ๆ ทำให้เศษอาหารติดฟันได้ง่าย และทำให้เคี้ยวอาหารไม่สะดวก จนส่งผลทำให้ไม่อยากจะรับประทานอาหาร และในระยะยาวทำให้ขาดสารอาหารได้

ลำดับต่อมา คือ การหมั่นดูแลและป้องกันหลอดเลือดตามร่างกายไม่ให้ตีบตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่จะไปเลี้ยงหัวใจ การดูแลหลอดเลือดตามร่างกายไม่ให้ตีบตันก่อนวัยอันควรมีความสำคัญมาก โดยเริ่มจากอาหารควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง หนังสัตว์ และเครื่องในสัตว์ ไม่ควรรับประทานบ่อย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากกว่าปกติ โดยคิดง่าย ๆ ดังนี้ ให้ใช้ความสูงของตนเองลบด้วย 100 นั่นคือ น้ำหนักตัวที่หนักได้สูงสุด เช่น สูง 170 เซนติเมตร ก็ควรมีน้ำหนักตัวมากสุดที่ 70 กิโลกรัม เมื่อควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนักตัว และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ควรตรวจเช็คเลือดเพื่อไม่ให้คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และน้ำตาลในเลือดไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร การรับประทานผักและผลไม้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีส่วนช่วยบำรุงสุขภาพอีกทางหนึ่ง

เมื่อระวังผลเลือดไม่ให้ผิดปกติ โอกาสที่เส้นเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงที่หัวใจจะตีบตันก็น้อยลง จึงช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ และทำให้เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองได้ดี จึงช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมได้ด้วย ในขั้นต่อไปควรหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตและชีพจร ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยตรวจเช็คทุก 3 เดือน เพราะอาจจะผิดปกติขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ ความดันโลหิตที่ปกติไม่ควรเกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท ควรให้ทั้งสองค่าต่ำกว่านี้ทุกครั้งที่ตรวจวัด และชีพจรในขณะพักผ่อนไม่ควรเกิน 72 ครั้งต่อนาที การที่ค่าความดันโลหิตและชีพจรอยู่ในระดับปกติจะช่วยให้หัวใจทำงานไม่หักโหมเกินไป ทั้งนี้เพราะหัวใจจะต้องแบกภาระการสูบฉีดเลือดเพื่อเลี้ยงร่างกายไปอีก 100 กว่าปี จึงไม่ควรให้หักโหมตั้งแต่อายุเพียง 40 ปี

การจะมีอายุยืนถึง 100 กว่าปีขึ้นไป ก็ควรจะมีสมองที่ยังมีความจำเป็นปกติเช่นเดิม จึงควรป้องกันสมองไม่ให้หลง ๆ ลืม ๆ ที่พบเห็นในปัจจุบันมีจำนวนมาก โรคทางสมอง 2 โรคที่พบบ่อย คือ โรคอัลไซเมอร์ (ความจำเลอะเลือน) และโรคพาร์กินสัน (โรคมือขาสั่นเวลาเคลื่อนไหว) ซึ่งในปัจจุบันพบว่า มีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ โรคหลอดเลือกในสมองตีบ การรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์มากเกินไป และอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระน้อยเกินไป ซึ่งจาก 3 สาเหตุนี้ เป็นตัวเร่งทำให้เกิดโรคทั้งสองนี้ ดังนั้นจึงควรป้องกันตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยการควบคุมไขมันในร่างกายไม่ให้สูงเกินไป ดังที่กล่าวมาแล้ว ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และมีการรับประทานอาหารที่มีสารอนุมูลอิสระให้ครบถ้วน คือ วิตามินเอ ซี อี และธาตุเซเลเนียม ซึ่งวิตามินเอ มีมากในผักชนิดต่าง ๆ รวมทั้งผักชนิดหัวที่มีสี เช่น ฟักทองและแครอท ส่วนวิตามินซีมีมากในผักใบเขียวและผลไม้ต่าง ๆ ธาตุเซเลเนียมมีมากในเนื้อสัตว์และตับสำหรับวิตามินอี ควรต้องรับประทานเสริมตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ประมาณวันละ 100 มิลลิกรัมก็ได้ เมื่อรับประทานได้ดังนี้ ก็จะช่วยทำให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเพียงพอตลอดเวลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น