วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ดาบอาทมาฏ



Arthamaat
Ancient Art of Sword Fighting
As the Burmese troops advanced against his crumbing vanguard, King Naresuan courageously plunged into the fray mounted atop an elephant. Moments later he slashed the Burmese crown prince with a sword in an epic elephant duel, winning back the independence of the Ayutthaya Kingdom.
It was over 400 years ago when sovereignty was still defended by mostly swords, spears, shields, and scythes. Battlefield victories during the reign of King Naresuan were no accident, but rather a result of courage, tactics and great fighting skills of the great warrior king as well as his troops. Specialized fighting techniques were passed on to a large pool of Siamese young men through different martial arts schools which abounded then…
A sign on the door says “Arthamaat Naresuan Sword Fighting School.” Upon arriving here, a group of young men studiously grabbed a wooden sword and started practicing guarding positions according to the middle of Bangkok’s financial district on Sathorn 9.
“Arthamaat is an ancient double sword fighting art of King Naresuan and is very powerful, fast and dangerous,” explains Manoch Boonyamud, the original teacher.
In 1977, Manoch learned the sward fighting technique from a man only known as Suriya. Fearing that this dangerous art could be misused, Manoch had kept the knowledge to himself until ne met Chartchai Ajanat. Almost two decades later
Though he is a businessman with a doctorate in treasury and tax law. Chartchai ia an accomplished martial artist with a passion for many forms of fighting arts. After spending days and nights learning Arthamaat, Chartchai realized the power of the sword fighting technique and decided to found the Arthamaat School to preserve this ancient art.
“Those familiar with sword fighting know Arthamaat is no ordinary art,” says Chartchai. A look at one basic move alone will unveil the essence of Arthamaat: “Defenes is offense. Offense is defense.” By constantly drawing the double swords in a coordinated fashion to form a vertical figure”8”,the move “Covering three worlds.” Guards all body parts while at the same time ready to slash the attacker.
There are three basic moves and 12 movements, each with rhyming figurative names. And each movement contains numerous sub-movements that can be combined and woven together. In actual fighting, moving from core basic moves to movements and sub-movements is like a firework that shoots out time and again from a center point. The more complicated the technique, the more beautiful and dangerous, as the moves are increasingly more difficult to predict.
Every Friday, about 30 people gather at the Arthammaat school for a lesson. The reasons? Besides preserving this Siamese heritage, students say they learn a useful self-defense skill, get a good exercise and get their minds to be more centered and calm.
Story : Jakkapan Kangwan / Photos :Bansit Bunyaratavej, Boonkit Suthiyananon
ดาบอาทมาฏ
อานุภาพของดาบไทย
แม้ปรากฏมีอาวุธปืนจากยุโรปถูกนำเข้ามาใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่สงความน้อยใหญ่ระหว่างคนไทยกับข้าศึก นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใหญ่เป็นการสู้รบแบบประชิดตัว ทั้งสองฝ่ายเข้าฟาดฟันกันด้วยศาสตราวุธนานาชนิด ทั้งทวน ง้าว โล  หอก โดยเฉพาะอย่างอย่างยิ่ง ดาบ ซึ่งเป็นอาวุธที่ใช้อย่างกว้างขวางที่สุด
ในประวัติการสู้รบของคนไทย ดาบเล่มที่ขึ้นชื่อลือชาที่สุดเห็นจะได้แก่ “พระแสงดาบคาบค่าย” ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 4 ปีจอ พุทธศักราช 2129 ยามกลางคืน พระองค์ทรงคาบพระแสงดาบนำทหารปีนขึ้นระเนียด หมายเข้าตีค่ายพม่าที่ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา
วีรกรรมอันอาจหาญตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่ว่าครั้งทำสงครามยุทธหัตถี, ทรงพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง, นำทัพตีไทใหญ่เมืองคัง ฯลฯ ล้วนแสดงให้เห็นความเป็นกษัตริย์นักรบที่กล้าหาญ เชี่ยวชาญในยุทธวีธี พระองค์เป็นผู้นำทัพไทยกอบกู้อิสรภาพกรุงศรีอยุธยาให้พ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ในรัชสมัยของพระองค์ อาณาจักรอยุธยาสามารถแผ่อำนาจและอาณาเขตไปอย่างกว้างขวาง พระองค์จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการเชิดชู มีพระราชประวัตปรากฏอยู่ในพงศาวดาร จดหมายเหตุ เองการประวัติศาสตร์ ตลอดจนตำนานและเรื่องเล่าต่าง ๆ จากปากต่อปาก
ขณะเดียวกัน การศึกสงครามนับครั้งไม่ถ้วนตลอดรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และภายหลังจากนั้น ไม่ว่ากับอาณาจักรพม่าชาติอื่น ๆ ทำให้คะเนได้ว่า คนไทยสมัยนั้นต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อการสู้รบตลอดเวลา คงมีสำนักสอนวิชาการต่อสู้ตั้งอยู่ทั่วไปทั้งที่เมืองหลวงและหัวเมืองต่าง ๆ อาจารย์ผู้มีชื่อเสียงจะมีคนจำนวนมากมาฝากตัวขอเป็นศิษย์ ทำให้วิชาการต่อสู้ของไทย อาทิ มวยไทย ดาบไทย ได้รับการสืบทอดและพัฒนาสืบมา จนกลายเป็นวิชาที่มีเอกลักษณ์และอานุภาพ
แผ่นป้ายไม้หน้าประตูนั้นปรากฏข้อความว่า “สำนักดาบอาทมาฎนเรศวร” เด็กหนุ่มทยอยมาถึงคนแล้วคนเล่า เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดทะมัดทะแมง แล้วฉวยดาบหวายลงสู่ลานปูนเพื่อฝึกซ้อม พวกเขาการ์ดดาบ ก้าวย่าง วาดดาบด้วยท่วงท่าและแววตามุ่งมั่น ตามคำแนะนำของครูฝึก
บรรยากาศคล้ายจะเป็นการซ้อมดาบเตรียมรับศึกในสมัยอยุธยา หากนี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบัน ณ ปี2546 ในลานปูนของบ้านหลังที่ถูกแวดล้อมด้วยดงตึกของย่านสาทร กรุงเทพมหานคร ผู้ก่อตั้งและสมาชิกของสำนักดาบแห่งนี้กล่าวว่า วิชาดาบของพวกเขาเป็นวิชาดาบของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
“วิชาดาบอาทมาฎเป็นของสมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นวิชาที่รวดเร็ว รุนแรง และอันตรายมาก คนที่จะหัดได้ต้องมีจรรยาบรรณ ห้ามไปทะเลาะเบาะแว้งกับใคร เพราะอาจตีเขาตาย โดยเฉพาะวิชาตัดข้อตัดเอ็นซึ่งเป็นวิชาสูงสุดของอาทมาฎ คือไม่มีการฟันดาบ แต่มุ่งฟันข้อต่อของร่างกาย” ครูมาโนทย์ บุญญมัด ครูฝึกประจำสำนักกล่าว
ในยุคคอมพิวเตอร์ที่คนยิ่งกันตายเกลื่อนเมืองเช่นปัจจุบัน การที่คนกลุ่มหนึ่งคร่ำเคร่งวิชาดาบย่อมเป็นเรื่องน่าสนใจ ที่สำคัญ วิชาดาษที่พวกเขาเชื่อกันว่าเป็นวิชาโบราณ สืบทอดมาจากแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น จะเป็นอย่างไร
กล่าวได้ว่า สำนักดาบอาทมาฑนเรศวรกำเนิดขึ้นได้เพราะการโคจรมาพบกันของคนสองคน คืออาจารย์ชาติชาย อัชนันท์ และครูมาโนทย์ บุญญมัด เรื่องราวของสำนักดาบแห่งนี้คงไม่สมบูรณ์ หากขาดบันทึกประวัติของบุคคลทั้งสอง
แม้อาจารย์ชาติชายได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าของสถานที่ แต่ต้นตำรับวิชาดาบอาทมาฎคือครูมาโนทย์ ผู้เกิดและเติบโตในจังหวัดพิษณุโลก เมืองเดียวกับที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระราชสมภพ และภายหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับมาจากการเป็นตัวประกันของพระเจ้าบุเรงนองที่ประเทศพม่า ก็เสด็จมาครองเมืองนี้ในฐานะพระมหาอุปราช
“ผมเกิดที่จังหวัดพิษณุโลก” ครูมาโนทย์เริ่มต้นเล่าสู่วงสนทนา เขาเป็นคนผิวคล้ำ ปีนี้อายุได้ 44 ปี ตัวไม่ใหญ่ แต่คล่องแคล่วแข็งแรง “สมัยเด็ก ๆ ผมป่วยกระเสาะกระแสะมาตลอด ลุงที่มีความรู้ด้านโหราศาสตร์ได้แนะนำให้เอาผมไปถวายเป็นลูกบุญธรรมของท่านเจ้าคุณวรญาณมุนี ซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่เรียกว่าวัดใหญ่ คือ เอาไปให้พระเลี้ยง ผมได้เข้าไปอาศัยอยู่ในวัด ตั้งแต่นั้นมากก็หายป่วย ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลอีกเลย”
ครูมาโนทย์เล่าถึงที่มาของการเริ่มฝึกวิชาดาบว่า “ผมชอบดาบมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ในงานวัดจะมีดาบพลาสติกขาย ผมก็ชอบซื้อแต่ดาบอยู่อย่างงั้น หัดฟันเล่น ๆ ไป ๆ มา ๆ ก็มีคนมาสอนดาบให้ ผมมีโอกาสได้เรียนกับครูดาบหลายท่านตั้งแต่ก่อนเรียนดาบสายกรมพละในโรงเรียนอีก
“ครูผมแต่ละท่านจะมาแปลก ๆ บางท่านตกรถไฟมา ไม่มีข้าวกิน มาขอผมกินข้าว ผมก็หาข้าวให้กิน เช่นครูธำรง ไม่ยอมบอกนามสกุล บอกแต่ว่ามาจากสำนักดาบพุทไธสวรรย์ มากินนอนและฝึกดาบให้ผมถึงสามปีก็ยังไม่รู้นามสกุลของท่านเลย จนกระทั่งท่านจากไป อีกท่านหนึ่งบอกแต่ชื่อสำนัก แต่ไม่ยอมบอกชื่อตัวท่าน ผมจึงเรียกท่านว่าครูมาตลอด ท่านบอกแต่เพียงเป็นหนึ่งในสี่ศิษย์เอกของท่านปรมาจารย์อารีย์ ผู้ก่อตั้งสำนักตาบศรีอยุธยา ที่จังหวัดเชียงใหญ่ นอกจากนั้นยังมีอีกสองท่านที่ไม่ยอมบอกสำนัก แต่ละท่านได้สั่งสอนผมท่านละหนึ่งปีบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง”
ครูมาโนทย์กล่าวว่า แม้ตัวเขาเรียนวิชาดาบมาหลายสำนักแล้ว แต่เมื่อได้เห็นวิชาของครูต่างถิ่นท่านหนึ่ง ก็ถึงกับตื่นเต้นและฉงนสนเท่ห์ นี่คือจุดเริ่มต้นที่เขาได้รู้จักวิชาดาบอาทมาฎ
“ตอนนั้นผมอายุสิบกว่าปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมที่โรงเรียนพุทธชินราช และเป็นครูฝึกดาบสายพุทธไธสวรรย์ให้แก่นักเรียนรุ่นน้อง ก็ได้ข่าวว่ามีครูดาบฝีมือดีจากทางเหนือมาสอนอยู่ที่โรงเรียนเซนต์นิโคลัส เมื่อได้ไปดูท่านฝึกซ้อมแล้วรู้สึกเป็นเรื่องที่แปลกมาก ครูท่านนั้นอายุประมาณ 40 กว่า ท่านใช้วิชาดาบสองมือ ที่สำคัญคือท่านเป็นคนขาเป๋ แต่พอฟันดาบท่านมีความรวดเร็วมาก คู่ฝึกซ้อมที่เป็นคนขาดีจะรับก็รับไม่ทัน แล้วท่าดาบของท่านก็แปลก ๆ มีการยกแข้งยกขา เหินตัว มีการกระโดด การฉาก ผิดกับวิชาสำนักอื่นที่ผมเรียนมา ซึ่งส่วนมากจะวิ่งตรง ถอยตรง”
“ผมจึงได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ ได้ทราบว่าท่านชื่อครูสุริยา และวิชาดาบสองมือที่ท่านใช้ เรียกว่าวิชาดาบอาทมาฎ ผมเรียนดาบกับท่านอยู่สามปี ผึกซ้อนทั้งกลางวัน กลางคือ ระหว่างนั้นครูสุริยาได้เล่าประวัติของวิชาดาบอาทมาฎให้ฟังว่า เดิมวิชานี้เป็นส่วนหนึ่งของตำราพิชัยสงครามซึ่งถูกฉีกออกก่อนสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก นำไปเก็บรักษาไว้ทางภาคเหนือแล้วทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนเรศวรฯ เมื่อพระองค์เสด็จกลับจากเป็นตัวประกันที่พม่า มาครองเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงใช้วิชานี้ฝึกสอนผู้คนที่ซ่องสุมไว้ เข้าป่าเข้ารกฝึกกัน โดยพระองค์และพระเอกาทศรถทรงเป็นครูฝึกเองเพื่อเตรียมพร้อมทำสงครามกับพม่า”
ครูมาโนทย์เล่าต่อว่า “คนที่จะเป็นทหารของสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ ต้องเป็นคนที่มีฝีมือ ครูสุริยายังเล่าว่า กองทหารที่ใช้วิชาดาบอาทมาฎ ก็คือกองอาทมาฎ ทหารของกองนี้ยังเป็ฯคนรักษาเท้าช้างในยามสงคราม ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญมาก เพราะถ้าช้างทรงเจ็บ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประทับอยุ่ข้างบนจะตกที่นั่งลำบาก ดูตอนที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่า มีแต่คนคุมเท้าช้างเท่านั้นที่ตามทัน ที่ครูเล่ามีเท่านี้”
เรื่องเล่าของครูสุริยาจากความทรงจำของครูมาโนทย์นี่เอง เป็นที่มาของความเชื่อและคำกล่าวที่ว่า ดาบอาทมาฎเป็นวิชาของสมเด็จพระนเรศวรฯ
ครูมาโนทย์เล่าว่า เขาเรียนดาบอาทมาฎอยู่สามปี จึงสำเร็จวิชา ประจวบกับจบการศักษาชั้นมัธยมปลายในปี 2521 จึงลาครูสุริยาเข้ามาศึกษาต่อมหาวิทยาลัย รามคำแหงที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อกลับไปเยี่ยมบ้านอีกครั้งก็ไม่พบครูสุริยาแล้ว
“ครูสุริยาได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่นั้นมาผมไม่ได้พบท่านอีกเลย”
ขณะเรียนอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ครูมาโนทย์ได้เข้าชมรมกีฬาต่อสู้ป้องกันตัว สำนักดาบเจ้ารามฯ หนึ่งปีต่อมา ก็ได้เป็นครูฝึกของสำนัก
“ผมเป็นครูฝึกสำนักดาบเจ้ารามฯถึงปี 2538 แต่ไม่เคยนำวิชาดาบอาทมาฎออกมาเผยแพร่เลย เพราะสำนักดาบเจ้ารามฯ มีวิชาดาบของตนเองอยู่แล้ว การนำวิชาอื่นมาสอนเป็นการไม่บังควร และอีกสาเหตุหนึ่ง วิชาดาบอาทมาฎเป็นวิชาที่อันตรายมาก ถ้าคนสำมะเลเทเมาหรือคนเกกมะเหรกเกเรเอาวิชานี้ไปใช้ คนอี่นจะเดือนร้อน คนฝึกต้องมีคุณธรรมสูง ผมจึงเก็บวิชานี้ไว้กว่า 20 ปี โดยไม่ได้เผยแพร่ กระทั่งปลายปี 2538 อาจารย์ชาติชาย อัชนันท์ ไดติดต่อเข้ามาเพื่อขอศึกษาวิชานี้ อาจารย์ชาติชายเป็นศิษย์ของท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ปรมาจารย์ มวยไชยา ส่วนผมเคยศึกษามวยไชยาจากครูทองหล่อ ยาและ ซึ่งเป็นศิษย์ของปรมาจารย์เขตร จึงถือว่าอาจารย์ชาติชายเป็นรุ่นพี่ทางสายมาย อีกทั้งผมลองสือประวัติดู พบว่าเป็นคนดี ผมใช้เวลาตรึกตรองอยู่เป็นเดือนจึงตกลงใจถ่ายทอดวิชาดาบอาทมาฎให้อาจารย์ชาติชาย”
คนที่ไม่รู้จักอาจคิดว่าอาจารย์ชาติชาย อัชนันท์ เป็นนายตำรวจหรือทหาร มากกว่าสถานภาพที่แล้วจริง คือเป็นนักธุรกิจด้านโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์เพราะชายวัย 45 ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายการคลังและภาษีจากประเทศฝรั่งเศสผู้นี้ เป็นคนร่างใหญ่ แข็งแรง ท่วงท่าองอาจผึ่งผาย บุคลิกลักษณะเช่นนี้หล่อหลอหลอมมาจากการที่เคยผ่านการศึกษาศิลปะการต่อสู้นานาชนิด ได้ฝึกซ้อมออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ
อาจารย์ชาติชายเริ่มเรียนยูโดตั้งแต่อายุสิบกว่าปี ขณะเป็นนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ต่อมาได้เรียนวิชามวยไทยสายปรมาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธ์ แล้วไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนมวยไชยากับปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ศึกษาวิชาดาบและกระบี่กระบองจากครูสมัย เมษะมาน แห่งสำนักดาบพุทไธสวรรย์, ครูจำนง บำเพ็ญทรัพย์ (ปู่เส็ง) แห่งสำนักดาบค่ายบ้านช่างหล่อ เรียนดาบศรีอยุธยาจากครู วัลลภิศร์ สดประเสริฐ เรียนดาบศรีไตรรัตน์ที่เปิดสอนภายในโรงเรียน ทั้งยังศึกษาวิชาการต่อสู้ต่างประเทศอีกหลายแขนง เช่นเรียนเทควันโด้จนได้สายดำ จากอาจารย์คิมเมียงซู ชายเกาหลี เรียนมวยจีนของสำนักมวยจีนเสียวลิ้มยี่ และการใช้ศาสตราวุธจีน กับอาจารย์คันศรงามพึงพิศ
“ปี 2526 ผมกลับจากฝรั่งเศสมาเยี่ยมบ้าน ได้มีโอกาสเรียนมวยไชยาเพิ่มเติมกับครูทองหล่อ ยาและ หรือครูทอง เชื้อไชยา ศิษย์เอกคนหนึ่งของท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ครูทองมีลูกศิษย์ คนหนึ่ง คือ ครูแปรง (อมรฤต ประมาญ) ซึ่งสนิทกับผม ช่วงปี 2538 มีอยู่วันหนึ่งครูแปรงก็รำดาบท่าคลุมไตรภพให้ดู ตอนนี้ผมก็ เอ๊ะ ดาบอะไร ไม่เคยเห็น ครูแปรงเล่าให้ฟังว่า เขาเรียนวิชาดาบนี้มาจากครูคนหนึ่ง ซึ่งเก่ามาก ก็คือครูมาโนทย์ ผมก็เลยขอให้ครูแปรงช่วยไปตาม” อาจารย์ชาติชายเล่า
“พบกันครั้งแรกเป็นการพูดคุยแนะนำตัว อีกวันหนึ่งครูแปรงไม่มาด้วย พอครูมาโนทย์มาถึงบ้านผม ผมถือดาบหวาย ครูโนทย์ถือดาบหวาย ผมก็ตีแกเลย หวดเลย พอหวดปุ๊บ เขาก็หวดแขนผมเจ็บ หวดอีกที เขาก็หวดโดนผมอีก ผมบอกหวดหลายทีแล้วนะ ชักโมโห ก็ไล่ตี เขายิ้มหัวเราะแบบสบาย ๆ พอผมหวดไปแรง ๆ เขาก็ใช้ลูกไม้สะท้อนบ้าง คลื่นกระทบบ้าง เล่นผมซะน่วมเลย วันนั้นเขาทำผมเจ็บตัว แต่ยังไม่ยอมสอนวิชา แล้วเขาก็หายไปตั้งนาน จริง ๆ เขาไปสืบประวัติผมว่าเป็นคนยังไง ผมต้องไปตามหาเขา ขอให้สอนวิชาให้”
“ผมเรียนวิชาดาบมาหลายสำนักพอมาเห็นวิชาดาบอาทมาฎ ผมรู้เลยว่าเป็นวิชาดาบที่ดี เพราะมีทั้งแม่ไม้และลูกไม้ที่แตกออกได้เป็นร้อย ๆ พัน ๆ เท่า แต่ละท่าก็มีชื่อแบบโบราณ แล้วผมเคยเรียนมาว่าโดยทั่ว ๆ ไปของที่ดีจะมีคำสรุปหรือแก่นของมัน อย่างมวยผมก็เข้าใจถึงแก่น เช่น ป้องปัดปิดเปิด ทุ่มทับจับหัก อย่างดาบอาทมาฎก็มีแก่นวิชาของมัน เช่น ท่าฟัน คือที่รับ ที่รับคือท่าฟัน แล้วการ์ดดาบ การรับใน วางขา การลดดาบปัดป้อง วนเป็นวง พร้อมรุกรับในเวลาเดียวกัน มันคือเหลี่ยมเดียวกับมวยไชยาที่ผมเรียนมา”
อาจารย์ชาติชายฝึกวิชาดาบอาทมาฎกับครูมาโนทย์ทั้งกลางวันกลางคืนเป็นแรมปี ยิ่งเรียนก็ยิ่งประจักษ์ถึงอานุภาพของวิชานี้ จึงตัดสินใจก่อตั้งสำนักดาบขึ้น เพื่อหวังเผยแพร่และอนุรักษ์วิชาดาบอาทมาฎไม่ให้สุญหาย
จนถึงปัจจุบัน อาจารย์ชาติชายและครูมาโนทย์เปิดสำนักสอนดาบได้ปีกว่าแล้ว และหากมองย้อนกลังไป กล่าวได้ว่า “ท่าคลุมไตรภพ” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามท่าแม่ไม้หลักของวิชาดามอาทมาฎ ที่ดึงดูดใจอาจารย์ชาติชายตั้งแต่แรกเห็น คือจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสำนักดาบอาทมาฎนเรศวร
“พุ่งดาบมาเลยครับ” ครูมาโนทย์ร้องบอกให้พวกเราพุ่งดาบหวายใส่ ขณะเขาวาดดาบท่าคลุมไตรภพไปด้วย ดาบหวายในมือว้อยขวามวาดประสานเป็นวงรูปเลขแปดอารบิคแนวตั้งอย่างต่อเนื่อง ครั้งแล้วครั้งเล่า
พวกเราคนหนึ่งจด ๆ จ้อง ๆ ในที่สุดดาบหวายในมือเขาถูกพุ่งออกไป แม้ไม่ถึงกับสุดแรงเพราะยังติดด้วยเกรงใจ ทว่าก็ไม่เรียกว่าเบา แต่สุดท้ายมันถูกม่านดาบอันรวดเร็วของครูมาโนทย์ปัดกระเด็นไปอีกทาง
“ท่าคลุมไตรภพมีความหมายตามชื้อของมัน ไตรภพหมายถึงสวรรค์ มนุษย์ นรก เปรียบได้กับส่วนบน กลาง ล่าง ของร่างกายได้หมด” ครูมาโนทย์กล่าว “สมัยก่อนตอนฝึกกับครูสริยา ท่านใช้ดาบฝึกในเวลากลางคืน เพื่อผึกสายตา ให้เห็นแนวดาบ แต่ฝึกเด็กทุกวันนี้ผมใช้ดาบหวาย เพราะเด็กต้องเรียนหนังสือ มาดเจ็บแล้วไม่คุ้มกัน”
ท่าคลุมไตรภพแม้มีความสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงส่วนเดียวของความพลิกแพลงซับซ้อนของวิชาดาบอาทมาฎ อาจารย์ชาติชายชายนั่นเองเป็นผู้จัดลำดับและอธิบายโครงสร้างของหลักวิชา เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
ศิษย์ใหม่ของสำนักจะได้เรียนหลักวิชาพืนฐานอย่างท่าการ์ด (ท่าสามขุม) ดาบเป็นอันดับแรก แต่หากศิษย์ผู้นั้นเคยผ่านสำนักดาบอื่นมาบ้าง เขาจะรู้ว่าท่าการ์ดดาบอาทมาฎไม่เหมือนสำนักอืนใด
การ์ดดาบอาทมาฎเป็นดาบรับในขาข้างหนึ่งก้าวมาข้างหน้า งอเขาเล็กน้อย ยื่นแขนข้างเดียวกับขาที่ก้าวออกข้างหน้ากำดาบโดยหันด้านฝ่ามือเข้าใจตัว แนวดาบพาดเฉียง 45 องศา พาดผ่านระหว่างคิ้วกับดวงตาที่จ้องไปยังคู่ต่อสู้ ดาบอีกข้างถืออยู่แนบด้านข้างตัวระหว่างเอว ปลายดาบชี้เฉียงขึ้นเล็กน้อยพุ่งเข้าหาหน้าออกคู่ต่อสู้ และเมื่อเตินการ์ดหรือถอดการ์ดคือเดินมาข้างหน้าหรือถอยหลัง ดาบที่ระดับเองจะถูกดึงขึ้นมาพาดเฉียงแทนอีกข้างที่ถูกดึงลงแนบลำตัว สลับสับสนเปลี่ยนกัน
เพียงท่าพื้นฐานเช่นท่าการ์ด ก็สามารถชักนำเข้าสู่หัวใจของเคล็ดวิชาดาบอาทมาฎที่ว่า “ทำฟันคือท่ารับ ท่ารับคือท่าวัน”
“ผมจะแสดงให้ดู”
อาจารย์ชาติชายคว้าดาบหวายสองเล่ม เดินเข้าหาเป้ายางรถยนต์บนเสาไม้ กลางลานปูน เขาตั้งการ์ด ดาบหน้าฟาดลงบนยางบังเกิดเสียงดังหนักหน่วง ทว่าสิ่งที่น่าสนใจกว่าความรุ่นแรงกลับเป็น ท่วงท่าเคลื่อนไหว เพราะดาบที่แนบ ลำตัวได้ถูกดึงขึ้นพาดเฉียงด้านหน้าแทน ส่วนดาบที่ฟาดยางรูดลงไปแนบลำตัว ในขณะเดียวกัน อยู่ในท่าป้องกันอันรัดกุม ไม่มีช่องว่างให้โจมตี นี่คือความหมายของ การฟันในท่ารับ ในทางกลับกัน หากคู่ต่อฟันมาก็จะติดดาบหน้าที่พาดขวาง ขณะดาบที่แนบลำตัวพร้อมพุ่งแทงสวนออกไปใจฉับพลัน
จากท่าการ์ดดาบ สำดับต่อไปคือแม่ไม้ทั้งสามท่า เราได้เห็นท่าคลุมไตรภพไปแล้ว โอกาสต่อมามาครูมาโนทย์ได้รำอีก สองท่าให้เราดู ในท่า “ตลบสิงขร” ดาบซ้ายขวาวนวนในระดับเอวเป็นรูปเลขแปดอารบิกในแนวนอน ขณะท่า “ย้อนฟองสมุทร” ดาบทั้งสองข้างวาดเป็นรูปเลขแปดสองตัวต่อกันจากล่างขึ้นบน ขณะวาดดาบก็มีการโล้ตัวไปข้าหน้าและหลังด้วย
อาจารย์ชาติชายอธิบายว่า “แม่ไม้ท้งสามท่ามันทำให้แขนได้วาดไป ดาบของเราจะวนอย่างนี้ตลอดเพื่อไม่ให้มีช่องว่าง เราจะไม่หยุดดาบ จะวาดดาบช้า ๆ ก็ได้ แต่ต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา ขณะวาดดาบก็พร้อมฟันหรือแทงเขาไปด้วย”
“ดูดี ๆ ผมจะทำคลุมไตรภพให้ดู” ครูมาโนทย์ว่า “คู่ต่อสู้เข้ามา ผมจะฟันดื้อ ๆ อย่างนี้ก็ได้ แล้วกลับมาพร้อมที่จะรับ หรือผมจะแทงเลยก็ได้ เพราะไม่มีการเงื้อ ซึ่อถ้าเป็นคนอื่นก่อนฟันจะต้องเงื้อดาบ
เรียกว่าเงื้อให้เห็นมาจากบ้าน พอเงื้อดาบ คู่ต่อสู้ก็รู้ตัว แต่ของเราวนดาบอยู่ตลอด ไม่มีการเงื้อให้เห็น จะฟันจะแทงก็แตกออกไปจากท่าวนดาบได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ตายตัว
“ผมเคยเจอคู่ต่อสู่เร็วมาก” อาจารย์ชาติชายยกตัวอย่าง “แต่ผมก็ดุ่ยเข้าไปเลย คลุมไตรภพเข้าไปเลย พอเขาเงื้อจะฟัน ผมพลิก ตีเลย ปัง! มันก็โดนอยู่แล้ว ผมไม่ต้องคอยรับเลย แต่ผมใช้ทานแม่ไม้คลุมตัวไว้ก่อน ค่อยท่าเขา”
ลำดับต่อจากแม่ไม้ 3 ท่า ก็คือ 12 ท่าไม้รำเสือลากหาง ฟันเงื้อสีดา หงส์ปีกหัก ท่ายักษ์ท่าพระรามแผลงศร เชิญเทียนตัดเทียบ มอญส่องกล้อง ลับหอก ลับดาบ ช้างประสานงา-กาล้วงไส้ พญาครุฑยุดนาค เรียงหมอน และท่าสอดสร้อยมาลา
ผู้เรียนดาบอาทมาฎจะต้องฝึกรำท่าไม้รำให้ครบทั้ง 12 ท่า เพราะแต่ละท่าได้บรรจุ “ลูกไม้”ต่าง ๆ เอาไว้ ซึ่งก็คือท่วงท่าที่ใช้ในการต่อสู้จริง ๆ ลูกไม้แต่ละท่าต่างก็มีชื่อเรียกเป็นของตัวเอง เช่น เสือทลายห้าง-การฟันดาบคู่ลงมาจากเหนือศรีษะ เสือลากหาง-การวาดดาบโดยปลายดาบจรดพื้นในแนวข้างลำตัว พร้อมเตะขาไปข้างหน้าเพื่อส่งแรง ไอยราฟาดงวง-จิกปลายดาบจากด้านบนลงสู่ศรีษะคู่ต่อสู้ ฟันเรียงหมอน-ดาบคู่ฟันกวาดแนวนอน หรือมอญส่องกล้อง-ดาบหนึ่งขวางไว้ด้านบน กับดาบคู่ฟันกวาดแนวนอน หรือมอญส่องกล้อง-ดาบหนึ่งขวางไว้ด้านบน กันดาบคู่ต่อสู้ฟันลงมา ส่วนดาบอีกข้างแทงย้อนขึ้นสู่ลำตัวคู่ต่อสู้
นอกจากฝึกท่าไม้รำแล้ว ยังต้องฝึกท่าเท้า ได้แก่ ท่าการ์ด ท่าเท้า และผึกท่าไม้รำแล้ว ก็จะเข้าสู่การฝึกกลยุทธ์และกลศึก หลายลูกไม้เป็นหนึ่งกลยุทธ์ หลายกลยุทธ์เป็นหนึ่งกลศึก” ครูมาโนทย์กล่าว
ส่วนอาจารย์ชาติชายอธิบายให้เห็นภาพ “วิชาดาบอาทมาฎจะแตกออกจากศูนย์กลางไปรอบวง จากท่าการ์ด สู่ท่าแม่ไม้ สู่ท่าไม้รำ แล้วแตกออกสู่ท่าลูกไม้ เหมือนก้อนหินหล่นสู่ผิวน้ำ เกิดคลื่นวงกลมแผ่ออกจากศูนย์กลางวง วงแล้ววงเล่า แล้วท่าลูกไม้วงนอกยังสามารถแตกออกไปหรือผสมกับลูกไม้อื่น ๆ ได้อีกเป็นร้อย ๆ พัน ๆ ท่า ไม่รู้จบ แล้วแต่ความสามารถและไหวพริบปฏิภานของแต่ละคน”
“คนยิ่งฉลาดเท่าไหร่ก็ยิ่งแตกวงท่าดาบออกไปได้กว้างขึ้น” พี่เป้ก (ศรีสิฎฐ์ เผ่าทองสูข) ศิษย์รุ่นใหญ่ของสำนักสรุป
อาจเปรียบเทียบได้อีกอย่างว่า วิชาดาบอาทมาฎคล้ายดอกไม้ไฟ มันแตกออกจากจุดศูนย์กลางเป็นประกายแสงสี ยิ่งแตกออกไปวงแล้ววงเล่า ก็ยิ่งพรางพรายลายตา ทว่ายิ่งสวยงามก็ยิ่งอันตราย เพราะมันหมายถึงทางดาบที่ยิ่งพลิกแพลงยากคาดเดา
ครูมาโนทย์กำลังจะแสดงท่วงท่าพลิกเพลงของดาบอาทมาฎให้เราชม เขายืนประจันหน้ากับศิษย์เอก คราวนี้ทั้งสองใช้ดาบเหล็ก ยืนจดจ้องกันในท่าการ์ด แล้วเข้าสู่ท่าคลุมไตรภพ
ลูกศิษย์เป็นฝ่ายบุกเข้ามาก่อน แทงดาบขวาเข้ามา ครูมาโนทย์รับด้วยลูกไม้ท่าพิรุ่ณร้องไห้ โดยดาบในมือซ้ายพลิกปลายลงพื้น ใช้คมต้านดาบที่แทงมา พร้อมถอยขาขวาไปด้านหลังแล้วพลิกเหลี่ยมกลับตัวไปทางขวา ดาบในมือขวาแทงย้อนกลับมาด้วยทาไผ่พันลำ เข้าสู่แผ่นหลังอันเป็นจุดอับคู่ต่อสู้ จากนั้นหมุนตัวทางขวาอีกครึ่งรอบ หันมาประจันกับด้านหลังคู่ต่อสู้โดยคมดาบขวากดตรงหลังคอไว้ ขาซ้ายยกขึ้นเตรียมเขย่งก้าวกระโดด ปาดดาบขามเฉือนลง ตามด้วยดาบซ้ายฟันเฉียงจากด้านบนสู่แผลเดิมตรงหลังคอเพื่อเผด็จศึก ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงพริบตาเดียวเท่านั้น ยังดีที่เป็นเพียงการสาธิต เราจึงไม่ได้เห็นเลือดจากคมดาบ
ครูมาโนทย์ให้ลูกศิษย์แทงมาอีกครั้ง เขาใช้ดาบซ้ายพลิกตัวเบี่ยงไปทางขวาของคู่ต่อสู้เช่นเดิม แต่คราวนี้แทนที่จะแทงดาบขวาย้อนกลับในท่าไผ่พันลำ กลับพลิกข้อมือให้ปลายดาบซ้ายชี้ขึ้นฟ้า แล้วจิกคมปลายดาบลงกลางหัวคู่ต่อสู้ด้วยลูกไม้ ท่าไอยราฟาดงวง
ทั้งหมดคือการพลิกแพลงด้วยท่าต่อท่า แต่ลูกไม้ท่าเดียวกันยังสามารถแตกตัวผสมกับท่าอื่นได้อีก อย่างเช่นลูกไม้ ท่าฟันเรียงหมอน ที่ดาบซ้ายขวาฟันกวาดตามขวางในแนวขนานกัน
“คนไม่รู้อาจคิดว่า ดาบคู่ท่าฟันเรียงหมอนใช้รับหรือโจมตีด้วยกันเพียงอย่างเดียว ที่จริงดาบหนึ่งใช้รับ ดาบหนึ่งใช้ฟันต่างหาก” ครูมาโนทย์เผยเคล็ดลับ
ในการสาธิตอีกครั้งหนึ่ง คู่ต่อสู้ฟันดาบคู่ลงมาจากด้านบน ครูมาโนทย์ใช้ลูกไม้ท่าฟันเรียงหมอน ดาบบนใช้รับดาบที่ฟันลงมา ขณะดาบล่างฟันปาดกลางลำตัวคู่ต่อสู้
“ดูให้ดี ท่าฟันเรียงหมอนยังสามารถถ่างดาบบนและดาบล่างแยกห่างจากกันได้อีก ขณะดาบบนฟันในแนวปรกติ แต่เราย่อตัว ฟันดาบล่างในระดับเรี่ยพื้นเข้าสู่แนวข้อเท้าคู่ต่อสู้ เรียกว่าฟันด้วยท่าแถนกวาดลาน”
ในขณะคู่ต่อสู้ฟันจู่โจมเข้าใส่ แทนที่จะถูกบังคับให้เป็นฝ่ายรับ ผู้ใช้วิชาดาบอาทมาฎกลับสามารถตอบโต้กลับไปในคราวเดียว นี่เองคือจุดเด่นที่เป็นหัวใจของวิชานี้
ในฐานะตันตำรับวิชา ครูมาโนชย์อธิบายว่า “ปรัชญาของวิชาดาบอาทมาฎนอกจาก “ท่าฟันคือท่ารับ ท่ารับคือท่าฟัน” แล้วยังมี “ท่ารูกคือท่ารับ ท่ารับคือท่ารุก” หมายความว่าในทุกท่วงท่าของดาบอาทมาฎสามารถรับพร้อมรุกในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่รับก่อนถึงค่อยรุก และขณะที่รุกเขาก็ยังมีที่รับอยู่ในตัว และยังมี “เขาฟันเราไม่รับ เขารับเราไม่ฟัน”  “จะฟันต่อเมื่อเขาไม่รับ จะรับต่อเมื่อหลบหลีกไม่พ้น”
แล้วครูมาโนทย์ก็แสดงให้เราเห็นถึงการ “รุกและรับในจังหวะเดียวกัน” เมื่อคู่ต่อสู้ฟันดาบคู่ลงจาด้านบนในท่าเสือทลายห้าง ก็เจอกับลูกไม้มอญส่องกล้อง ดาบมือซ้ายของครูมาโนทย์ พาดขวางเหนือศรีษะ สกัดดาบที่ฟันลงมา พร้อมย่อตัวลงต่ำ ดาบมือขวาแทงตรงจากล่างขึ้นบนสู่หน้าอกคู่ต่อสู้ในจังหวะเดียวกัน
“ไหนแทงมาอีกที” เขาบอกลูกศิษย์”
ลูกศิษย์แทงมาด้วยดาบซ้าย ครูมาโนทย์ดึงขาซ้ายไปข้างหลังพร้องเบี่ยงตัวหลบดาบทที่พุ่งเข้ามา ขณะดาบในมือขวาฟันจากบนลงล่างด้วยท่านารายณ์ทรงจักร คมดาบมิได้ปะทะดาบที่แทงเข้ามา ทว่า ฟันจากบนตำแหน่งข้อมือคู่ต่อสู้ การเผด็จศึกในพริบตานี้แสดงให้เห็นถึง “ท่ารับคือท่ารุก” ซ้ำยังแสดงเคล็ดวิชา “ตัดข้อตัดเอ็น” ซึ่งครูมาโนทย์กล่าวว่า เป็นวิชาขั้นสูงที่อันตรายอย่างยิ่ง
ครูมาโนทย์ยืนประจันหน้ากับลูกศิษย์อีกครั้ง พวกเราตั้งใจดูว่าคราวนี้เขาจะทำอะไร ครูมาโนทย์เป็นฝ่ายบุกก่อน ผันดาบขวาจากมุมบนขวามเฉียงลงในแนว 45 องศา คู่ต่อสู้ยกดาบซ้ายขวางรับ คมดบยังไม่ทันปะทะกัน ครูมาโนทย์พลันพลิกข้อมือ วกดาบฟันเฉือนลงตามแนวทแยงอีกด้าน คมดาบฟันเฉือนลงตามแนวทแยงอีกด้าน คมดาบลากผ่านไหล่ขวาของคู่ต่อสู้เป็นแนวลงมาสู่ชายโครงด้านซ้าย
“เมื่อเราฟัน คู่ต่อสู่จะรับ เราอาศัยการพลิกดาบ แล้วฟันเฉือนในท่าฝานลูกบวบ ซึ่งก็เข้าสู่หลักการ เขารับเราไม่ฟัน จะฟันต่อเมื่อเขาไม่รับ” ครูมาโนทย์อธิบาย”
“นอกจากนั้น ดาบอาทมาฎยังมีวิชาขั้นสูง ถือเป็นวิชาลับ จะไม่สอนให้ใครง่าย ๆ นอกจากศิษย์เอกที่ไว้ใจได้จริง ๆ เพราะเป็นวิชาที่อันตราย คือวิชาตัดข้อตัดเอ็น 27 ท่า กับวิชาหนุมานเชิญธง 48 ท่า วิชานี้จะใช้ในเวลาถูกรุม คือต้องต่อสู้กับคนจำนวนมาก ตั้งแต่ 3 คน 5 คน กระทั่ว 10 คน หรือ 20 คน ก็สู้ได้
ครูมาโนทย์ได้แสดงการต่อสู้กับคู่ต่อสู้จำนวนมากพร้อม ๆ กัน หน้าพระที่นั่ง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมเสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในโอกาสที่พระองค์เสด็จเยี่ยมชมสำนักดาบอาทมาฑนเรศวรเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2545
ยิ่งเรามาเก็บข้อมูลที่สำนักดาบอาทมาฑฯ บ่อยครั้ง ก็ยิ่งเห็นความซับซ้อน พลิกแพลงของวิชาดาบอาทมาฎของอาจารย์ชาติชายและครูมาโนทย์แสดงให้ดู ไม่เพียงแม่ไม้ ลูกไม้ กลยุทธ์ กลศึก วิชาดาบอาทมาฎยังเต็มไปด้วยกลเม็ดเคล็ดลับและชั้นเชิงกันแพรวพราว ดังเช่น การเข้าลึกออกเร็ว การกดดาบ-ตามดาบ การกระตุกดาบคู่ต่อสู้ การฟันรูด การใช้ด้านดาบกระทุ้ง หรือการพลิกข้อมือ การหลอกล่อ หลอกซ้ายตีขวา หลอกขวาฟันซ้าย หลอกบนลงล่าง หลอกล่างขึ้นบน ฯลฯ
หลักวิชาอันซับซ้อนเช่นนี้เป็นดังที่อาจารย์ชาติชายกล่าวว่า ยิ่งผู้ใช้มีปฏิภาณก็ยิ่งใช้วิชาดาบได้กว้างไกล แต่อีกส่วนสำคัญก็คือ อาจารย์ผู้สอนมีหลักการถ่ายทอดวิชาอย่างไร จึงจะทำให้ศิษย์เข้าใจวิชาดาบอาทมาฎอย่างถึงแก่น
ทุกเย็นวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ ลูกศิษย์ทั้งรุ่นเล็ก –กลาง-ใหญ่ จะทยอยมายังสำนักดาบอาทมาฎนเรศศวร ซอยสาทร 9 กลุ่มมาเรียนมวยไชยยาที่อาจารย์ชาติชายสอนอยู่ก่อนแล้ว อีกกลุ่มมาเพื่อเรียนดาบสองมือ
กระสอบทรายใบใหญ่แขวนบนเสาโลหะแข็งแรงตรงมุมหนึ่งของลานบ้าน พวกเรียนมวยไชยาที่พันมือเสร็จแล้วมายืนรวมกลุ่มกันอยู่ เป็นนักเรียนมัธยมชาย มีทั้งตัวเล็กตัวใหญ่คละรุ่น คนหนึ่งโจนเข้าเตะกระสอบทราย แรงปะทะจากแข้งบังเกิดเสียงดังหนักแน่น
กลุ่มฝึกดาบกำลังกำลังวิ่งวอร์มรอบสนามปูน เมื่อครบจำนวนรอบที่กำหนด ครูมาโนทย์ก็บอกให้ศิษย์รุ่นเล็กได้แก่พวกหนุ่มวัยรุ่น ยืนประจำหน้าเป้ายางรถยนต์เรียงราย เพื่อฝึกการตีเป้า ขณะศิษย์รุ่นเก่าอย่างพี่หมูและพี่พิเชฐ จับคู่ฝึกซ้อมใช้ลูกไม้ต่อสู้กัน
ครูมาโนทย์บอกให้พวกตีเป้าฟันซ้ายขวา เฉียง 45 องศาแบบสะพายแล่ง 50 ครั้ง แล้วเปลี่ยนเป็นฟันกวาดตามแนวขวางแบบฟันเรียงหมอน เสียงทีบจากดาบหวายปะทะเนื้อยางพลังดังเป็นจังหวะพร้อมเพรียม
“เวลาฟันเรียงหมอน ให้ย่อตัว บิดตัว บิดไหล่ด้วย” ครูบอกลูกศิษย์
อาจารย์ชาติชายอธิบายให้เราฟังว่า “การฝึกตียางเป็นการฝึกพื้นฐาน เพื่อให้ได้กำลังแขน ให้ข้อ หัวไหล่ และขาแข็งแรง และเพื่อฝึกความแม่นยำ”
ขั้นตอนการฝึกดาบอาทมาฎ ศิษย์ใหม่จะต้องเริ่มต้นจากฝึกพื้นฐาน นอกจากฝึกตีเป้า ก็ต้องฝึกควงพลองสี่ท่าหลัก คือ ท่าแข่งแสงสูรย์ พิรุณร้องไห้ นารายณ์ทรงจักร และไอยราฟาดงวง เพื่อฝึกกำลัง ข้อ แขน และเพื่อให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเคลื่อนไหวอย่างกลมกลืน ไม่สะดุด เพราะระหว่างการควงพลองจะต้องมีการหมุนตัว เอี้ยวตัว เอี้ยวไหล่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการใช้ท่าการ์ด และท่าเท้าสี่ทิศ ฉากแปดแฉกต่อไป เมื่อผู้ฝึกมีพื้นฐานแน่นแล้ว ก็เริ่มฝึกท่าการ์ด แม่ไม้สามท่า ฝึกท่าเท้า เมื่อชำนาญก็ฝึกท่ารำ และกลยุทธ์กลศึกในที่สุด
จากการฝึกพื้นฐานสู่การฝึกวิชาขั้นสูง อาจารย์ชาติชายกล่าวว่า สำนักดาบอาทมาฎฯ จะให้ความสำคัญกับการสอน การอธิบายอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ
“หลักการสนของที่นี่ ไม่ใช้ให้ทำอย่างเดียว แต่จะสอนด้วยว่าทำไปเพื่ออะไร คือจะอธิบายทุกท่วงท่า ทุกรายละเอียดว่ากำลังทำอะไรอยู่ เช่นในการรำท่าไม้รำ ไม่ใช่สักแต่รำ-รำ-รำ- ไป แต่ไม่รู้ว่าทำไมต้องรำท่านี้ ทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำไมต้องมองปลายดาบ เพราะจริง ๆ แล้วลักษณะการเคลื่อน อากัปกิริยาทุกอย่างมีเหตุมีผลหมด”
“ที่นี่เราเริ่งสอนตั้งแต่ท่าไหว้ครู น่าเทพพนม เวลานั่งคุกเข่าต้องแยกส้นเ ก็เพื่อเวลาถูกจู่โจมจะได้ดีดตัว หลบหลีกได้รวดเร็ว การเท้าเอวกางข้อศอกสองข้าง มันก็อยู่ในท่าปลาหมอยัก เงี่ยง ฝึกใช้ศอกปัดป้องการจู่โจม เวลาถวายบังคมจรดมือตรงระหว่าลูกตาเพื่ออะไร ก็เพื่อกดจุดให้ตาสว่าง แล้วมีการโล้ตัวเพื่ออะไร ก็เพื่อหัดโล้ตัวหลบอาวุธ”
“อย่างท่วงท่าต่าง ๆ ในท่าไม้รำ แค่เรื่องการวางขาก็อธิบายได้เป็นวัน ๆ เช่นเมื่อยกขาแล้ววาง จะต้องย่อตัว เวลาเขาฟันมา จะได้เด้งตัวหนี อย่างท่าสอดสร้อยมาลา ตอนดึงดาบขึ้นก่อนวนรอบศรีษะ ต้องมองซ้ายขวา ก็เพื่อชำเลืองคู่ต่อสู้ หรือท่าเชิญเทียนตัดเทียน ทำไมให้เดินวนไปเป็นครึ่งวงกลม คือสอนให้วนสอนให้ฟันปาดดาบ หรือท่าฟันเรียงหมอนก็สอนให้รู้จักการดึงดาบ ไม่ให้ดาบพันกัน” อาจารย์ชาติชายยกตัวอย่าง
หลังจากได้ความรู้จากอาจารย์ผู้สอนแล้ว เราจะไปคุยกับลูกศิษย์บ้าง ว่าพวกเขาได้อะไรจากการเรียนดาบอาทมาฎ
“เรียนแล้วเราได้รู้ว่า ตีตรงไหนจะเจ็บที่สุด”
เจ้าของคำพูดคือ พงศ์ หรือ จุติพงศ์ บุญสูง หนุ่มวัย
17 ปี น้าของพงศ์รู้จักกับอาจารย์ชาติชาย จึงแนะนำให้พงศ์มาเรียนมวยไชยาก่อน เขาเพิ่งหันมาเรียนดาบเมื่อไม่นานมานี้
“ผมเรียนดาบมาได้เดือนกว่าแล้ว ได้ผึกการตีเป้ายางแบบต่าง ๆ แล้วก็ได้เรียนท่าแม่ไม้คลุมไตรภพ ตลบสิงขอร ย้อนฟองสมุทร” พงศ์กล่าว “เรื่องร่างกายไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ เพราะผมเล่นกีฬาออกกำลังกายเป็นปรกติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความมีวินัยเพิ่มขึ้นกว่าเดิม มีความอนทนมากขึ้น”
เมื่อถามว่าชอบการต่อสู้หรือ พงศ์ตอบว่า “ผมไม่ใช่คนที่จะไปวิวาทกับคนอื่น ถ้าเพื่อนหาเรื่อง เราก็เลือกจะไม่ต่อสู้ดีกว่า เพราะรู้ว่าถ้าเราทำอะไรลงไป เขาเจ็บหนัก”
ขณะที่พิเชษฐ อนันต์ประกฤติ วัย 41 ปี ทำงานรับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า “ตอนเด็กเราอยากเรียนดาบอยู่แล้ว แต่ไม่มีโอกาส พอดีรู้จักอาจารย์ชาติชายอยู่ก่อน เพราะยิงปืนด้วยกัน แกเล่าให้ฟังเรื่องวิชาดาบ ผมมาดูครูมาโนทย์สอน เลยตกลงใจเรียน เรียนดาบอาทมาฎมาเกือบสองปีแล้ว ท่ารำฝึกไปแล้ว แต่ยังจำได้ไม่ครบทุกท่า มาเรียนแล้วเราได้ออกกำลังกายและได้ทักษะป้องกันตัวเอง”
ศิษย์สำนักอาทมาฎฯอีกคนหนึ่งที่เรามีโอกาสได้คุยด้วย คือพี่หมู-ธานินทร์ ปุณเกษม อายุ 45 ปี เจ้าของบริษัทออกแบบตกแต่งภายใน
“ผมรู้จักอาจารย์ชาติชายตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน พอปี 2542 ได้เจอกัน อาจารย์ก็เล่าให้ฟังเรื่องวิชาดาบอาทมาฎ ว่าเป็นวิชาดาบไทยที่ฉลาดมาก เลยสนใจและลองมาดู ตอนแรกกะมาดูเฉย ๆ แต่พอได้เริ่มเรียนรู้ขึ้นมาทีละนิด ยิ่งเรียนยิ่งรัก ยิ่งเรียนยิ่งชอบ ในความเป็นดาบที่ฉลาด ไม่เคยเสียเปรียบคู่ต่อสู้”
“ผมทึ่งในปรัชญาการต่อสู้ของวิชาดาบอาทมาฎที่ว่า เขาฟันเราไม่รับ เขารับเราไม่ฟัน เราจะฟันต่อเมื่อเขาไม่รับ เราจะรับต่อเมื่อหลบหลีบไม่ทั่น การรับคือการรุก ท่ารุกคือท่ารับ รุกและรับในท่าเดียวกัน ในชีวิตประจำวัน เราเอาปรัชญาพวกนี้มาใช้ได้ ถ้ารู้จักตีความ”
“เหมือนเขาฟันมา ทำไมเราต้องรับล่ะ เราหลบหลีก หลอกล่อและหาจุดอ่อน แล้วฟันเขาตรงที่จุดอ่อนก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นในเรื่องธุรกิจ สมมุติคู่แข่งโจมตีเราในเรื่องราคา เราเสนอราคาไป 100 บาท เข้าเสนอราคามา 80 บาท หรือ 70 บาท สู้เขาไหม เราไม่จำเป็นต้องลดราคา แต่สามารถหลบเลี่ยงการต่อสู้ราคาไปใช้กลยุทธ์อื่น เช่น อาจมีของแถมให้ลูกค้า หรือเพิ่มคุณคภาพของสินค้าได้ไหม ส่วนปรัชญาที่ว่า การรับคือการรุก ก็เหมือนคำกล่าวที่ว่า ให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส”
ขณะทางฝั่งเจ้าสำนัก-ผู้ถ่ายทอดวิชา อย่างอาจารย์ชาติชาย กล่าวถึงการฝึกดาบอาทมาฎว่า
“เหตุผลหนึ่งที่ผมเปิดสำนักดาบอาทมาฑนเรศวร เพราะต้องการจะอนุรักษ์ศิลปะการต่อสู้ของไทย แล้วถ้าไปถามคนเล่นศิลปะการต่อสู้ ก็ต้องเรียนทั้งวิชามือเปล่า และอาวุธด้วย มันถึงจะครบเครื่อง เช่น ถ้าเล่นมวยก็ต้องเล่นดาบ”
“คนที่จะฝึกดาบอาทมาฎ นอกจากเป็นการเสริมสร้างร่างกาย เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น และเป็นการฝึกสายตาแล้ว ยังเป็นการฝึกจิตใจ ทำให้เกิดสมาธิ มันทำให้ใจเรานิ่งขึ้น ความกล้าความมั่นใจเพิ่มพูนขึ้น แต่ไม่ใช่กล้าใจทางที่เสี่ยงนะ เป็นลักษณะอ่อนนอกแข็งใน รู้จักประเมินสถานการณ์ว่าควรจะแก้ไขยังไง หากต่อสู้แบบนี้จะเสียเปรียบมากไป ยอมดีกว่า แต่บางครั้งเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องทำ ใช้วิชา มันทำให้มีทางเลือกมากขึ้น”
“แล้วแล่นมวยหรือเล่นดาบ มันต้องมีเจ็บบ้าง เด็กบางคนไม่เคยโดนตี ก็ต้องสอนให้รู้จักอดทนอดกลั่น ให้รู้แพ้รู้ชนะ รู้อภัย”
วงสนทนาเริ่มมีคนมาสมทบเพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่วงพักการฝึกดาบและมวย การพุดคุยดำเนินไปอย่างออกรสและเป็นกันเอง ด้วยล้วนแต่เป็นคนคุ้นเคย เพราะเจอกันเป็นประจำทุกวันศุกร์
สำนักดาบอาทมาฎนเรศวรจึงไม่เพียงเป็นสถานที่ฝึกสอนวิชามวยและดาบ แต่ยังเป็นที่พบปะสังสรรค์ของบรรดาสมาชิกทั้งรุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 30 คน มีทั้งนักเรียน นักศึกษาจากต่างสถาบัน และคนจากหลายอาชีพ แม้ว่าต่างคนต่างมา แต่ทุกคนมีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ เป็นผู้ที่รักและสนใจในศิลปะการต่อสู้ หัวข้อการพูดคุยจึงไม่พ้นเป็นเรื่องวิชาการต่อสู้แขนงต่าง ๆ ไม่ว่าหมัดมวย คาราเต้ ยูโด พูดถึงอาวุธและการใช้อาวุธเหล่านั้น ทั้งมีด ปืน ดาบ ถกกันถึงปืนรุ่นนั้นรุ่นนี้ มีดที่เห็นจากแคตาล็อก บางครั้งก็ร่วมกันวิเคราะห์กลยุทธ์ ตำราพิชัยสงคราม เลยไปถึงหัวข้อทางประวัติศาสตร์ การสงครามของไทยในอดีต รามถึงพูดคุยเกี่ยวกับวิชาดาบอาทมาฎของพวกเขาเองด้วย
“ที่บอกว่าวิชาดาบอาทมาฎเป็นวิชาดาบของทหารกองอาทมาฎซึ่งมีหน้าที่รักษาเท้าช้างทรงของกษัตริย์ไม่ให้ได้รับอันตราย สิ่งที่ช่วยยืนยันอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องหลักวิชา อย่างท่าเท้าสี่ทิศ แปดแฉก การเคลื่อนที่จะอยู่ในลักษณะวนเป็นวง ฟันแล้วก็จะพลิกเหลี่ยมเข้าสู่ที่เดิม ออกไปได้ก็ไม่ไกล คือจะวนเวียนอยู่ใกล้ ๆ เท้าช้าง ต่างจากหลักวิชาสักอื่น ที่เน้นการเดิมตรง ถอยตรง ถ้าเดินฟันไปสิบก้าว ก็ไม่รู้ห่างจากเท้าช้างเท่าไหร่ ถอยกลับมาป้องกันคงไม่ทัน วิชาพวกนี้น่าจะเป็นของหน่วนทะลวงฟัน คือลุยอย่างเดียว” เป็นคำกล่าวของครูมาโนทย์
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่ผ่านมา อาจารย์ชาติชายได้พยายามค้นคว้าเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ เช่นจาก สาส์นสมเด็จ พบว่า ในสมัยโบราณมีหน่วยกรมทหารมอญ ทำหน้าที่สอดแนม สืบข่าวศึกบริเวณขายแดน แต่ไม่บีบันทึกเรื่องวิชาดาบอาทมาฎปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
“ผมอย่างเพิ่มเติมอะไรหน่อย” พี่หมูกล่าว “เมื่อเรื่องนี้เผยแพร่ออกไป คงจะมีคนถามว่า คุณแน่ใจได้อย่างไรว่าวิชานี้เป็นของสมเด็จพระนเรศวรฯ คือเราไม่อาจบอกได้อย่างแน่ชัด เพราะไม่มีเอกสารหลักฐานอะไรยืนยัน แต่เราเชื่อเพราะว่าเราศึกษาวิชานี้ เราเห็นจุดดีหลายข้อ เราเชื่อว่าไม่ใช่วิชาธรรมดา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่คนใดคนหนึ่งจะคิดขึ้นมาได้ง่าย ๆ เป็นวิชาที่มีที่มาที่ไปแน่นอน เลยอย่างถือโอกาสนี้บอกว่า ถ้ามีใครทราบ หรือรู้รายละเอียดเรื่องวิชาดาบอาทมาฎมากกว่าที่เรารู้ กรุณาติดต่อและบอกเรามาด้วย”
คำกล่าวข้างต้นมิใช่ความเห็นของพี่หมูคนเดียว แต่เป็นความเห็นร่วมกันของอาจารย์ชาติชาย ครูมาโนทย์ และสมาชิกสำนักดาบอาทมาฎนเรศวรทุกคน


วิชาดาบอาทมาฎจะแตกออกจากจุดศูนย์กลางไปรอบวง จากท่าการ์ด (ท่ากุมหรือท่าสามขุม) สู่ท่าแม่ไม้สามท่า ได้แก่ ท่าคลุมไตรภพ ตลบสิงขร ย้อนฟองสมุทร ท่าแม่ไม้ทำให้แขนได้วาดดาบอย่างต่อเนื่อง พร้อมโจมตีคู่ต่อสู้ด้วย "ลูกไม้" ท่าต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ในท่าไม้รำทั้ง 12 ท่า (ท่าวงนอกสุด) ท่าลูกไม้ต่าง ๆ ยังสามารถแตกตัวหรือผสมกบท่าอื่น ๆ ได้อีกไม่รู้จบ แล้วแต่ไหวพริบปฏิภาณของผู้ใช้

ผังวิชาดาบอาทมาฎ


ท่าการ์ด หรือท่ากุม หรือท่าสามขุม


คลุมไตรภพ


ตลบสิงขร


ย้อนฟองสมุทร


เสือลากหาง


พญาครุฑยุดนาค


เรียงหมอน


สอดสร้อยมาลา


ฟันเงื้อสีดา


หงส์ปีกหัก


ยักษ์


พระรามแผลงศร


เชิญเทียนตัดเทียน


มอญส่องกล้อง


ลับหอกลับดาบ

ช้างประสานงา-กาล้วงไส้



ท่าแม่ไม้ดาบอาทมาฎ
ท่าแม่ไม้ทั้ง 3 ท่าของดาบอาทมาฎ ประกอบด้วยท่าคลุมไตรภพ ตลบสิงขร ย้อนฟองสมุทร คือการวาดดาบอย่างต่อเนื่องเป็นรูปเลขแปดอารบิก เพื่อป้องกันตัว และพร้อมเข้าสู่ท่าจู่โจมคู่ต่อสู้ ท่าคลุมไตรภพ คือ การวาดดาบเป็นรูปเลขแปดในแนวตั้ง(8) ท่าตลบสิงขร คือ การวาดดาบเป็นรูปเลขแปดสองตัวต่อกันในแนวนอน ส่วนที่เห็นในภาพประกอบคือท่าย้อนฟองสมุทร โดยการวดดาบเป็นรูปเลขแปดสองตัวต่อกันในแนวตั้ง




















ท่าลูกไม้ ดาบอาทมาฎ
ท่าลูกไม้ของวิชาดาบอาทมาฎคือท่วงท่าที่บรรจุอยู่ใน 12 ท่ารำ ในภาพประกอบแสดงให้เห็นนักดาบทั้งสองฝ่าย ต่อสู้กันโดยใช้ท่าลูกไม้ต่อง ๆ ของวิชาดาบอาทมาฎ

1 ท่าเรียงหมอน ท่าการ์ (ท่ากุมหรือท่าสามขุม)


2 เสือทลายห้าง ช้างประสานงา

3

4 ขุนแผนแหกด่าน


5

6 หนุมานแหวกฟองน้ำ

7

8 ใช้ส้นดาบกระทุ้ง

9 ขุนแผนแหกด่านย้อนกลับ

10

11 ปลดดาบ

12 หนุมานเชิญธง


ที่มา : สารคดี sarakadee magazine
ปีที่ 19 ฉบับที่ 219 พฤษภาคม 2546
www.sarakadee.com



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น