วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

ระบบเศรษฐกิจใหม่

เมื่อความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้นมีความง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น จึงทำให้มีผลกระทบต่อการมีชีวิตอยู่ของมวลมนุษย์ เกิดการร่วมมือกันอย่างกว้างขวาง มีการร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยพวกเขาเหล่านั้นไม่เคยเห็นหน้ากันเลยด้วยซ้ำไป เกิดชุมชนออนไลน์ ทำให้เกิดเศรษฐกิจยุคดิจิตอลซึ่งถือว่าเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ ยกตัวอย่างเช่น amazon.com ได้สร้างธุรกิจใหม่ขึ้น โดยที่ไม่มีร้านอย่างเป็นตัวตน

ส่วนเว็บ YouTube ก็เป็นอีกบริษัทนึ่งที่กำเนิดขึ้น เพื่อให้คนชุมชนออนไลน์สามารถที่จะแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันโดยการแลกเปลี่ยนวีดีโอคลิปบนเว็บของ YouTube อีกบริษัทหนึ่งที่มีลักษณะเดียวกันกับ YouTube แต่เป็นการแลกเปลี่ยน collection รูปภาพบนเว็บคือ Flickr และขณะนี้ผู้คนบนชุมชนออนไลน์สามารถร่วมกันสร้างสารานุกรมออนไลน์ที่เรียกว่า Wikipedia ซึ่งขณะนี้ Wikipedia มีขนาดใหญ่กว่า encyclopedia ด้วยซ้ำไป ซึ่งเว็บเหล่านี้มีผู้คนเข้าถึงนับพันล้านคน การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจยุคดิจิตอลนี้ ทำให้รูปแบบของการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง



เมื่อมองย้อนไปในธุรกิจแบบเดิมๆ ซึ่งมีแนวความคิดในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นโดยคนภายในองค์กร เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญานั้น เริ่มเป็นความคิดที่ไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้อีกต่อไปเนื่องจากอิทธิพลของการร่วมมือกันของชุมชนออนไลน์ สามารถที่จะสร้างนวัตกรรมหรือทรัพย์สินทางปัญญาได้รวดเร็วและดีกว่าองค์กรที่ใช้บุคลากรภายในเท่านั้น นั่นคือแนวคิดตัวแบบธุรกิจใหม่ดังกล่าวนั้นสามารถทำลายตัวแบบธุรกิจเก่าได้อย่างถอนรากถอนโคน

ตัวแบบธุรกิจใหม่ดังกล่าวมีองค์ประกอบหลักสี่องค์ประกอบคือ การเปิดกว้าง (Openness) การเชื่อมต่อระหว่างกันและกัน (Peering) การใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Sharing) และการสร้างความร่วมมือกันข้ามโลก (Acting globally)



ตัวอย่างที่น่าสนใจที่สร้างโอกาสให้กับผู้คนที่ไม่เคยได้รับโอกาสนั้นมาก่อนเนื่องจากการใช้องค์ประกอบทั้งสี่นั้นคือ ผู้คนทั่วโลกจากประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา สามารถที่จะเข้าถึงสถาบันการศึกษามารตฐานสากลในระดับ MIT ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ปัจจุบันนี้ผู้คนสามารถเข้าถึงหลักสูตรผ่านอินเตอร์เนทของ MIT โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงแต่ connect เข้าสู่เวบไซต์ ocw.mit.edu และกด enter ก็สามารถเข้าถึงมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ โดยจะพบข้อความว่า “Welcome to MIT’s OpenCourseWare: a free and open educational resource (OER) for educators, students, and self-learners around the world. MIT OpenCourseWare (MIT OCW) supports MIT’s mission to advance knowledge and education, and serve the world in the 21st century.” โดยสามารถ download ตำราอิเล็กทรอนิกส์และแบบฝึกหัดของวิชาต่างๆที่สนใจและยังเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในฟอร์รั่มของวิชาได้อีกด้วย ในตัวอย่างนี้จะเห็นอย่างชัดเจนว่าหลักการของการเปิดกว้าง (Openness) ได้เกิดขึ้นแล้ว

การเชื่อมต่อระหว่างกันและการสื่อสารระหว่างกัน (Peering) เพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมใหม่ก็ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนแล้วเช่นกัน ตัวอย่างคือโปรแกรม Linux ได้ถูกร่วมสร้างขึ้นจากชุมชนออนไลน์ เริ่มตั้งแต่ปี 1991 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของ www โดยมีเด็กหนุ่มนักโปรแกรมคอมพิวเตอร์คนหนึ่งจาก Helsinki มีชื่อว่า Linus Torvalds ได้สร้างระบบปฎิบัติการอย่างง่ายขึ้นที่เขาเรียกมันว่า Linux โดยเขาได้ post โปรแกรม Linux ไว้บนเว็บไซต์ของเขา เพื่อให้โปรแกรมเมอร์ทั่วโลกที่สนใจเข้ามาร่วมพัฒนาจนปัจจุบัน Linux ได้ถูกนำไปใช้องค์กรใหญ่ๆทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น BMW, IBM, Motorola, Philips, และ Sony เป็นต้น

การใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Sharing) ก็ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนแล้วเช่นกัน เนื่องจากนวัตกรรมดิจิตอลก่อให้เกิดความง่ายในการร่วมใช้ทรัพยากร อีกทั้งสามารถที่จะสร้างมันซ้ำขึ้นอย่างง่ายดาย ถึงขนาดที่มันสามารถสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวงการเพลงและภาพยนต์อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นในกรณีของ Napster ได้ทำลายผลกำไรในวงการดนตรีจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งแสดงถึงพลังแห่งการใช้ทรัพยากรร่วมกันในลักษณะ Peer-to-peer sharing คือการใช้โปรแกรมของ Skype ในการติดต่อสื่อสารโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ด้วยการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องคิดตัวแบบทางธุรกิจใหม่ เนื่องจากในอนาคตอันใกล้ ผู้ให้บริการระบบสื่อสารโทรคมนาคมจะไม่สามารถที่จะได้รับผลกำไรจากการสื่อสารพื้นฐานอีกต่อไป ถึงขนาดที่ CEO ของ Skype กล่าวว่าข้อจำกัดของโปรแกรม Skype คือ Sky หรือท้องฟ้านั่นเอง นั่นหมายความว่าไม่มีข้อจำกัดใดๆต่อไปอีกในโลกนี้ ถ้ามนุษย์ยังมีจินตนาการที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งในขณะนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าไปลงทะเบียนในเว็บไซต์ของ Skype ภายในสองปีถึง 100 ล้านคนแล้ว และบริษัท Skype ได้ถูกซื้อโดย Ebay เป็นจำนวนเงินสูงถึง 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในเดือนกันยายนปี 2005 จนถึงขนาดที่ผู้บริหารองค์กรโทรคมนาคมแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (FCC) ได้กล่าวว่า “การจ่ายเงินเพื่อการสื่อสารข้ามโลกได้จบลงแล้ว ต่อไปนี้โลกจะเปลี่ยนไปอย่างที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน”

ส่วนการสร้างความร่วมมือกันระดับโลก (Acting globally) ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนแล้วเช่นกัน ตัวอย่างที่ดีที่ถูกยกขึ้นอย่างมากมายได้ถูกเขียนไว้ในหนังสือ The world is flat โดย Thomas Friedman ได้กล่าวถึงการที่ประเทศสหรัฐอเมริการและหลายๆประเทศในตะวันตก สามารถที่จะจ้างบริษัทในทวีปเอเชียเช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ในการให้บริการด้านต่างๆมากมาย เช่น call center เป็นต้น



การเชื่อมต่อของโลกทำให้ธุรกิจต่างๆได้เปลี่ยนมาเป็นระบบเปิด และขยายตัวไปทั่วโลกมากขึ้น คำถามที่สำคัญคือ ประเทศกำลังพัฒนาจะปรับตัวอย่างไร เพื่อรองรับการขยายตัวของกระแสโลกาภิวัฒน์ของโลก คำตอบคือต้องสร้างแรงงานเปรื่องปัญญาหรือที่เรียกว่า Knowledge worker และต้องผลิตสินค้าและบริการที่หลากหลายส่งออกไปทั่วโลกนั่นเอง

ขณะนี้โลกหันมาใช้วิธีการ Share ความรู้กันมากขึ้น จนทำให้องค์กรที่ทำวิจัยแบบปิดลับ โดยไม่มีการทำงานวิจัยร่วมกับองค์กรอื่นเริ่มหายตายจากไป เช่น ห้องวิจัยของ IBM, Intel, AT&T เป็นต้น องค์กรที่ไหวตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ทัน ก็เริ่มกระจายความรู้สู่องค์กรที่เขาจับมือด้วย ทำให้ความรู้แตกตัวออก และพัฒนาได้อย่างรวดเร็วขึ้นทันตา จึงทำให้องค์กรที่ปรับตัวทันมีความได้เปรียบองค์กรอื่น จนทำให้เทคโนโลยีของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน

นักคิดหลายท่านได้เห็นพ้องกันว่า “ ความรู้ก็คือการรู้ว่าตนเองไม่รู้ คนฉลาดคือคนที่รู้ว่าตัวเองโง่ ส่วนคนโง่คือคนที่อวดตัวเองว่าฉลาด สิ่งที่เราไม่รู้สามารถทำอันตรายต่อเราได้ ” ดังนั้น การรู้ว่าตนเองโง่จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นคนในชาติต้องถูกปลูกฝังให้เข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องรู้ว่าสิ่งใดที่ไม่สามารถต้านทานได้ แต่อาจสามารถชนะได้ด้วยความรู้และปัญญา (Knowledge and Wisdom) และต้องรู้ด้วยว่าสิ่งใดที่ควรเสียเวลาประท้วงกับทุนต่างชาติที่กำลังถาโถมเข้ามาในประเทศ หรือควรใช้เวลาประท้วงต่อต้านไปหาความรู้และปัญญามาต่อสู้จะเป็นวิธีการที่ชาญฉลาดกว่า


พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
settapong_m@hotmail.com
ประจำกรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย
กรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ภายใต้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น