วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วิกฤตที่จะเป็นโอกาส

มีเรื่องหนี่งที่ยกขึ้นมาคุยกันเมื่อไรจะเป็นเรื่องถูกเมื่อนั้น โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลาง
"ที่บ้านมีข้าวของที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ มากกว่าที่ซื้อมาแล้วใช้" เกือบร้อยทั้งร้อย ไม่ว่าในตู้เสื้้อผ้า เครื่องใช้ในครัว ข้าวของอื่น ๆ สารพัด แม้กระทั่ง อุปกรณ์ออกกำลังกาย
เป็นเรื่องปกติใช่หรือไม่ อุปกรณ์ออกกำลังกายราคาเป็นพันเป็นหมื่นที่ซื้้อมา กลายเป็นราวแขวนเสื้อผ้าหลังจากที่เห่อใช้แค่ 2-3 เดือน โลกทุนนิยมกระตุ้นการบริโภคกันไม่รู้จักจบจักสิ้น ทำให้วิถีชีวิตผู้คนในยุคนี้ซื้อไปเรื่อย ด้วยโฆษณาที่ไปก่อให้เกิดแรงกระตุ้นภายใน
ในทางทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม พฤติกรรมเช่นนี้ก่อให้เกิดการหมุนของเงินในตลาด กำลังซื้อมีต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการผลิต การจ้างงาน เพื่อมากสู่การซื้อ เป็นการทำให้วงจรเศรษฐกิจหมุนไปเรื่อย ๆ แต่ในทางคุณค่า พฤติกรรมทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ก่อให้เกิดการผลิต และการซื้อที่ไม่เพียงแต่ไม่เกิดประโยชน์ ยังเป็นการใช้ทรัพยากรและแรงงานอย่างสิ้นเปลือง
โลกถูกทำลายลงเพื่่อนำทรัพยากรธรรมชาติมาแปรรูปเป็นสินค้า ก็เพราะพฤติกรรมเช่นนี้ โลกยุคเทคโนโลยีไอที เมื่อเราซื้อคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือกระทั่งทีวีสักเครื่อง ในปัจจุบันพบว่า มีสายไฟฟ้า หรือสายพ่วง สารพัดขายมาพร้อมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราซื้อ โดยที่มีหลายสายในนั้นได้แต่เอามาเก็บไว้รกบ้าน เพราะไม่มีโอกาสที่จะใช้ เป็นการยัดเยียดขายพ่วงมาตามระบบตลาดทุนนิยม ที่จำเป็นต้องสร้างงานเพื่อกระตุ้นการซื้อ ยามที่เราทีเงินในกระเป๋ามาก ๆ เราจะไม่รู้สึกในเรื่องแบบนี้ สำนึกบริโภคนิยมจะปิดบังให้เรามืดบอด ปล่อยเลยตามเลย แต่ในยามวิกฤตเศรษกิจ ผู้คนบางส่วนเริ่มคิดเรื่องนี้แล้ว
ในการสำรวจของศูนย์วิจัยความสุขชุชชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัน เรื่อง"แนวโน้มวิถีชีวิตและปัจจัยลดทอนความสุขของคนไทย"ระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2552 คำถามหนึ่งมีว่า "ความเป็นจริงในเรื่องการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา"
คำตอบที่ได้คือ
ประชาชนส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 89.4 ระบุว่าจะซื้อสินค้าใหม่ จะถามใจตัวเองกันว่ามีความจำเป็นต้องซื้อหรือเป็นแค่ความอยาก
ผลการสำรวจยังพบว่าประชาชนรักษาข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้นานขึ้น มากขึ้นร้อยละ 86.3
ประชาชนมีความคิดใช้เงินแค่พออยู่พอกิน เก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็นร้อยละ 76.0
วางแผนการใช้จ่ายเป็นขั้นเป็นตอนอย่างรัดกุม ร้อยละ 79.3
ขยันมุมานะในการทำงานหนัก ร้อยละ 70.9
นอกจากนั้น ยังมีตัวเลขที่เปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งที่แล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่น่าสนใจคือ
มีรายได้เดือนนี้ไม่พอ ต้องพึ่งพาคนอื่น เดิมมีร้อยละ 47.4 คราวนี้เหลือร้อยละ 38.6
พวกที่หลังซื้้อมาแล้วพบว่าไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์มากนัก จากร้อยละ 31.9 เหลื่อร้อยละ 24.7
จากตัวเลขที่หากมองถึงวินัยเรื่องการใช้จ่ายถือว่าดีขึ้นในทุกด้าน รู้กจักใช้มากขึ้น อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ซื้้อ ทำให้ไม่ต้องผลิตมาเพิ่ม ทรัพยากรกรรมชาติถูกทำลายน้อยลง สิ่งแวดล้อมโลกดีขึ้น ชีวิตมีความสุขขึ้น แต่ผลกระทบระบบทุนนิยมไม่ค่อยดีนัก เพราะวงจรเศรษฐกิจถูกตัด ทำให้ไม่เกิดกำลังซื้อ ทำให้ขาดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ
ประชาชนนั้นเลือกแล้วที่จะใช้วิกฤตของเศรษฐกิจ มาเป็นโอกาสช่วยโลกฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างไร เหลือแต่รัฐบาลที่จะต้องดิ้นรนหาทางให้ผู้คนบริโภคเพิ่มขึ้น เพราะกลัวว่าจะอยุ่ไม่รอดเนื่องจากขาดกำลังซื้อมาหมุนเศรษฐกิจ วิกฤตเป็นโอกาสของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโลก แต่ไม่เป็นโอกาสของรัฐบาล

เมนูข้อมูล
นายดาต้า
มติชน สุดสัปดาห์
ปีที่ 29 ฉบับที่ 1,502

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น